พิมพ์


พื้นที่แนวปะการัง


             พื้นที่แนวปะการังในประเทศไทย ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ปะการังหลายฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติการเดินเรือน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456  พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490  พระราชบัญญัติให้อำนาจทหารเรือปราบปรามการกระทำผิดบางอย่างทางทะเล พ.ศ. 2490  พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504  พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522  พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535  พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535  พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2545  และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอีก 3 ฉบับ  ซึ่งกฎหมายบางฉบับเกี่ยวข้องโดยตรงและบางฉบับเกี่ยวข้องในทางอ้อม

            กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแนวปะการังโดยตรง เน้นในส่วนที่เป็นพื้นที่คุ้มครอง ได้แก่


1. พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 [รายละเอียด]

            พรบ.การประมง 2490 กำหนดให้ ปะการัง หินปะการัง กัลปังหา ดอกไม้ทะเล รวมทั้งซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดเป็นสัตว์น้ำ[มาตรา 4(1)]  และมีข้อกำหนดห้ามครอบครองสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขนิดใดชนิดหนึ่งตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา(มาตรา 53)


            พระราชกฤษฎีการะบุสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำบางชนิดที่ห้ามมีไว้ครอบครองเพื่อการค้า พ.ศ. 2535 กำหนดให้หินปะการัง กัลปังหา เต่าทะเล และกระ เป็นต้น เป็นสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ที่ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้า

           มาตรา 3 ให้้หินปะการัง กัลปังหา เต่าทะเล และกระ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหินปะการัง กัลปังหา เต่าทะเล และกระ เป็นสัตว์น้ำที่ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้า

            บุคคลใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรืทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 67 ทวิ)


            การกำหนดที่รักษาพันธุ์พืชแนวปะการังที่ประกาศไว้มีหลายแห่ง เช่น


           และการกำหนดพื้นที่และมาตรการเพื่อคุ้มครองปะการังและสัตว์น้ำอื่นๆ ตามมาตรา 32 ดังนี้

          มาตรา 32  รัฐมนตรีหรือข้าหลวงประจำจังหวัดโดยอนุมัติรัฐมนตรีเฉพาะภายในเขตท้องที่ของตน มีอำนาจประกาศกำหนดได้ดังต่อไปนี้

          (1) กำหนดขนาดตาและระยะช่องเครื่องมือทำการประมงทุกชนิด กำหนดขนาด ชนิด จำนวนและส่วนประกอบของเครื่องมือทำการประมงที่อนุญาตให้ใช้ในที่จับสัตว์น้ำ

          (2) กำหนดมิให้ใช้เครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด

          (3) กำหนดระยะที่ตั้งเครื่องมือประจำที่ให้ห่างกันเพียงใด

          (4) กำหนดวิธีใช้เครื่องมือทำการประมงต่าง ๆ

          (5) กำหนดฤดูปลาที่มีไข่และวางไข่เลี้ยงลูก กำหนดเครื่องมือที่ให้ใช้และกำหนดวิธีทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำใด ๆ ในฤดูดังกล่าว

          (6) กำหนดชนิด ขนาด และจำนวนอย่างสูงของสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง

          (7) กำหนดมิให้ทำการประมงสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดโดยเด็ดขาด


  โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 ได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อคุ้มครองปะการังคือ

          เรื่อง กำหนดมิให้ทำการประมงสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดโดยเด็ดขาด ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงปะการังหรือหินปะการังทุกชนิดและทุกขนาดไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ในทะเลหรืออ่าวในท้องที่จังหวัดชายทะเลทุกจังหวัด เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง


          เรื่อง กำหนดเขตห้ามใช้เครื่องอวนบางชนิดทำการประมงในยริเวณพื้นที่ที่มีแหล่งปะการังหรือมีกองหินในทะเลหรืออ่าวในท้องที่จังหวัดชายทะเลทุกจังหวัด โดยห้ามผู้หนึ่งผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับหรือเครื่องมือที่มีลักษณะวิธีการคล้ายคลึงกันทำการประมงโดยวิธีล้อมกองหินหรือล้อมปะการังและใช้เครื่องมือญี่ปุ่น หรืออวนต้อนปลา หรืออวนต้อนปลาหลังหิน หรืออวนต้อนปลากองหิน โดยวิธีการวางอวนในพื้นที่ทะเลในแหล่งที่มีปะการังหรือกองหิน หรือบนปะการังที่กระจัดกระจายบนพื้นทะเล แล้วใช้วิธีดำน้ำเดินเหยียบย่ำบนปะการัง เพื่อไล่ต้อนปลาเข้าสู่ก้นอวนเพื่อจับสัตว์น้ำทะเลหรืออ่าวในท้องที่จับหวัดชายทะเลโดยเด็ดขาด


          เรื่อง ห้ามใช้เครื่องมือบางชนิดทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำในพื้นที่ที่มีปะการัง กองหินในทะเล หรือแหล่งปะการังเทียม โดยกำหนดห้ามมิให้บุคคลใช้เครื่องมือทำการประมงประเภทอวนล้อม ที่เรียกโดยทั่วไปว่า "อวนญี่ปุ่น" หรือ "อวนต้อนปลา" หรือ "อวนต้อนปลากองหิน" ทำการประมงโดยวิธีการวางอวนไว้ในพื้นทะเล และวางอวนล้อมแนวปะการัง แนวกองหินในทะเล หรือแนวปะการังเทียม แล้วใช้คนเดินเหยียบย่ำบนปะการัง แนวกองหินหรือแนวปะการังเทียม เพื่อต้อนปลาเข้าสู่ถุงอวนในทะเลหรืออ่าวในท้องที่จังหวัดชายทะเลทุกจังหวัดโดยเด็ดขาด เว้นแต่ทำการประมงเพื่อประโยชน์ทางวิชาการและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง


2. พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 [รายละเอียด]

          พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 กำหนดให้สัตว์น้ำเป็นสัตว์ป่า[มาตรา 4(1)]  ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 ตามมาตรา 5 และมาตรา 6 กำหนดให้ กัลปังหา ดอกไม้ทะเล ปะการัง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งห้ามดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใด ห้ามทำการเพาะพันธุ์ ห้ามครอบครอง ห้ามค้าขาย และห้ามนำเข้าหรือส่งออก (บัญชีรายชื่อสัตว์ป่าสงวนและคุ้มครองที่เป็นสัตว์น้ำ)


3. พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 [รายละเอียด]

           แนวปะการังที่อยู่ในเขตประกาศอุทยานแห่งชาติทางทะเลจะได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ การกระทำใดๆที่จะส่งผลกระทบต่อสัตว์และทรัพยากรธรรมชาติในเขตอุทยานแห่งชาติ ถือเป็นความผิดตามกฎหมายตามความในมาตรา 16 และมาตรา 32


4. พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 [รายละเอียด]

           เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 43 และ 44 ในพระราชบัญญัตินี้ กำหนดมาตราการห้ามกระทำกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสภาพธรรมชาติบริเวณชายฝั่งทะเล เช่น ห้ามทอดสมอเรือในแนวปะการัง ห้ามเก็บหรือทำลายปะการังรวมทั้งการจับปลาสวยงามเพื่อกาค้า ห้ามการทำประมงที่ใช้เครื่องทือที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำวัยอ่อน ห้ามการถมทะเล เว้นแต่ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อกิจกรรมของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และห้ามการปล่อยทิ้งของเสียหรือมลพิษลงสู่แหล่งน้ำหรือทะเล เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับการบำบัดตามมาตรฐานของทางราชการแล้ว


5. มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่คุ้มครองปะการัง

              - กำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เป็นแหล่งท่องเเที่ยวทางทะเลที่มีปะการัง (2535)

              - การป้องกันการทำลายปะการังและการประชาสัมพันธ์ (2535 - 2536)

              - การติดตามผล (2535 - 2536)


ที่มา : อนุวัฒน์ นทีวัฒนา,2551. พื้นที่คุ้มครองทางทะเลในประเทศไทย : เป้าหมายปี ค.ศ. 2010/2012 ภายใต้กฎหมายว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ.เอกสารเผยแพร่สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฉบับที่ 35 กรมทรัพยากรทางทะเลและชาบฝั่ง.239 หน้า