พิมพ์


พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534


ฉบับเต็ม  คลิกที่นี่


          พระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยมีสาระสำคัญตามมาตรา ดังนี้


          มาตรา 5  ผู้ใดกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักรผู้นั้นจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร ถ้าปรากฏว่า

          (1) ผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมกระทำความผิดคนใดคนหนึ่งเป็นคนไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย หรือ

          (2) ผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างด้าว และได้กระทำโดยประสงค์ให้ความผิดเกิดขึ้นในราชอาณาจักรหรือรัฐบาลไทยเป็นผู้เสียหาย หรือ

          (3) ผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างด้าวและการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายของรัฐที่การกระทำเกิดขึ้นในเขตอำนาจของรัฐนั้น หากผู้นั้นได้ปรากฏตัวอยู่ในราชอาณาจักร และมิได้มีการส่งตัวผู้นั้นออกไปตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

          ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 10 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม


          มาตรา 6  ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น

          (1) สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด

          (2) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ยานพาหนะ สถานที่หรือวัตถุใดๆ เพื่อประโยชน์ หรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ

          (3) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่ประชุม ที่พำนัก หรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิด หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการถูกจับกุม

          (4) รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด จากผู้กระทำความผิดเพื่อประโยชน์ หรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ

          (5) ปกปิด ซ่อนเร้นหรือเอาไปเสียซึ่งยาเสพติดหรือวัตถุใดๆ ที่ใช้ในการกระทำความผิดเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิด

          (6) ชี้แนะ หรือติดต่อบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิด

          ผู้ใดจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่พำนักหรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลจะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้


          มาตรา 19  ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินของผู้ต้องหารายใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้คณะกรรมการสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้นั้น

ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เลขาธิการอาจสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องหาไปก่อน แล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบก็ได้


          มาตรา 20  ในการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องหา หากมีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดของผู้อื่นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้ต้องหา โดยได้รับทรัพย์สินนั้นมาโดยเสน่หาหรือรู้อยู่ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้นั้นด้วย และให้นำความในมาตรา 19 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม


           มาตรา 22  ในการตรวจสอบทรัพย์สิน ถ้าผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินไม่สามารถแสดงหลัก ฐานได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกตรวจสอบไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยว กับยาเสพติด หรือได้รับโอนทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณ ให้คณะกรรมการสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ ฟ้องคดีซึ่งต้องไม่ช้ากว่าหนึ่งปีนับแต่วันยึดหรืออายัดหรือจนกว่าจะมีคำ พิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องในคดีที่ต้องหานั้น

           เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบทรัพย์สิน หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทรัพย์สินรายใดอาจมีการโอน ยักย้าย ซุกซ่อน หรือเป็นกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างอื่น ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินรายนั้นไว้ชั่วคราวจนกว่าจะ มีการวินิจฉัยตามมาตรา 16 (3) ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จะยื่น คำร้องขอผ่อนผันเพื่อขอรับทรัพย์สินนั้นไปใช้ประโยชน์โดยไม่มีประกันหรือมี ประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก็ได้ และให้นำความในมาตรา 19 วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

           เมื่อมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินชั่วคราวแล้ว ให้คณะกรรมการจัดให้มีการพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งโดยเร็ว และในกรณีที่ผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินสามารถพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งได้ ก็ให้คืนทรัพย์สินให้แก่ผู้นั้น แต่ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ได้ ให้ถือว่าการยึดหรืออายัดตามวรรคสองเป็นการยึดหรืออายัดตามวรรคหนึ่ง

           การยื่นคำร้องขอผ่อนผันตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

           เพื่อประโยชน์ตามมาตรานี้ คำว่า “ทรัพย์สิน” ให้หมายความรวมถึง

           (1) ทรัพย์สินที่เปลี่ยนสภาพไป สิทธิเรียกร้อง ผลประโยชน์ และดอกผลจากทรัพย์สินดังกล่าว

           (2) หนี้ที่บุคคลภายนอกถึงกำหนดชำระแก่ผู้ต้องหา

           (3) ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้ต้องหาที่ได้รับ ขาย จำหน่าย โอนหรือยักย้ายไปเสียในระหว่างระยะเวลาสิบปีก่อนมีคำสั่งยึดหรืออายัด และภายหลังนั้น เว้นแต่ผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์จะพิสูจน์ต่อคณะกรรมการได้ว่าการโอนหรือการกระทำนั้นได้กระทำไปโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน