พิมพ์


อนุสัญญาว่าด้วยการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตในทะเลหลวง

(Convention on Fishing and Conservation of Living Resources of the High Seas)


ฉบับองค์การสหประชาชาติ คลิกที่นี่


    อนุสัญญานี้กำหนดหลักเกณฑ์ให้มีความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันกำหนดมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตในทะเลหลวง ทั้งรัฐที่ีมีทะเลอาณาเขตประชิดกับทะเลหลวง และรัฐที่มีคนชาติของตน (nationals) เข้าไปทำการประมงในบริเวณเดียวกันนั้น และกำหนดให้มีกรรมธิการพิเศษเพื่อตันสินวินิจฉัยในกรณีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการอนุรักษ์ที่มิอาจตกลงกันได้ 

    สาระสำคัญโดยสังเขปของอนุสัญญาฯ มีดังนี้



“รัฐทั้งปวงมีสิทธิสำหรับคนชาติของตนที่จะประกอบการประมงในทะเลหลวง ภายใต้บังคับแห่ง

        (ก) พันธกรณีตามสนธิสัญญาของตน

        (ข) ผลประโยชน์และสิทธิของรัฐชายฝั่งตามที่ได้บัญญัติในอนุสัญญานี้ และ

        (ค) บทแห่งข้อต่อไปนี้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตในทะเลหลวง (ข้อ 1 วรรค 1)”




      “รัฐทั้งปวงมีหน้าที่ที่จะวางมาตรการหรือจะร่วมมือกับรัฐอื่นในการวางมาตรการสำหรับคนชาติของตนตามความจำเป็น เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตในทะเลหลวง (ข้อ 1 วรรค 2)”




     “คนชาติ (nationals)” ในอนุสัญญาฯนี้ หมายความเฉพาะถึง เรือ หรือ ยานประมง ซึ่งมีสัญชาติของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยไม่คำนึงถึงคนในคณะเรือจะมีสัญชาติใดบ้าง (ข้อ 14)”



สาระสำคัญหลักของอนุสัญญาฯ ฉบับนี้มี 3 ประเด็น ได้แก่


1. ความร่วมมือระหว่างรัฐต่างๆ ในการกำหนดมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตในทะเลหลวง

   1.1 รัฐซึ่งคนชาติของตนจับปลาหรือทรัพยากรทางทะเลที่มีชีวิตชนิดอื่นใดในบริเวณทะเลหลวง ณ ที่ซึ่งคนชาติของรัฐอื่นมิได้ประกอบการเช่นนั้น จะกำหนดมาตรการสำหรับคนชาติของตนในบริเวณนั้นเมื่อจำเป็น เพื่อความมุ่งประสงค์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตซึ่งถูกกระทบกระเทือน (ข้อ 3)

   1.2 ถ้าคนชาติของรัฐสองรัฐหรือมากกว่า ทำการจับปลาหรือทรัพยากรทางทะเลที่มีชีวิตชนิดอื่นใดที่เป็นชนิดเดียวกัน ในบริเวณทะเลหลวงเดียวกัน เมื่อมีรัฐใดรัฐหนึ่งขอร้อง รัฐเหล่านี้จะเจรจาเพื่อทำความตกลงกำหนดมาตรการที่จำเป็นสำหรับคนชาติของตน เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตซึ่งถูกกระทบกระเทือน (ข้อ 4)

   1.3 หากได้มีการตกลงกำหนดมาตรการตามข้อ 3 และข้อ 4 แล้ว ภายหลังหากมีคนชาติอื่นเข้ามาทำการจับปลาหรือทรัพยากรทางทะเลที่มีชีวิตชนิดเดียวกันนั้น รัฐอื่นใดนั้นต้องยอมรับมาตรการที่ได้กำหนดไว้แล้ว หรืออาจขอร้องให้มีการตกลงกำหนดมาตรการกันใหม่ (ข้อ 5)


2. ผลประโยชน์พิเศษของรัฐชายฝั่ง

   2.1 รัฐชายฝั่งมีผลประโยชน์พิเศษในการธำรงไว้ซึ่งผลผลิตของทรัพยากรมีชีวิตในบริเวณทะเลหลวงที่ประชิดกับทะเลอาณาเขตของตน ซึ่งแม้ว่าคนชาติของตนมิได้ทำการประมงในบริเวณนั้นก็ตาม แต่รัฐชายฝั่งมีสิทธิเข้าร่วมโดยมีฐานะเท่าเทียมในการวิจัยและการวางข้องบังคับใด เพื่อมุ่งประสงค์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตในบริเวณนั้น (ข้อ 6)

   2.2 รัฐชายฝั่งอาจกำหนดมาตรการฝ่ายเดียวในการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตในบริเวณทะเลหลวงที่ประชิดกับทะเลอาณาเขตของตนได้ หากการเจรจาเพื่อการนั้นกับรัฐอื่นที่เกี่ยวข้องไม่สามารถตกลงกันได้ภายใน 6 เดือน โดยมาตรการดังกล่าวมีความจำเป็นต้องใช้อย่างรีบด่วน และมาตรการที่กำหนดขึ้นนั้นไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อชาวประมงต่างชาติ (ข้อ 7)

   2.3 รัฐใดซึ่งแม้คนชาติของตนไม่ได้ทำการประมงในบริเวณทะเลหลวงที่ไม่ประชิดกับฝั่งทะเลของตน แต่มีผลประโยชน์เป็นพิเศษในการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตในทะเลหลวงในบริเวณดังกล่าว อาจร้องขอให้รัฐซึ่งมีคนชาติทำการประมง ณ บริเวณนั้น ดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อการอนุรักษ์ตามข้อ 3 และข้อ 4 (ข้อ 8)


3. คณะกรรมาธิการพิเศษ

   3.1 เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น ภาคีใดภาคีหนึ่งอาจร้องขอให้นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการพิเศษเพื่อให้มีการตกลงไกล่เกลี่ยกัน คณะกรรมาธิการพิเศษประกอบด้วยสมาชิก 5 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยเลขาธิการสหประชาชาติ โดยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากรัฐซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทนั้น โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญในปัญหาทางกฎหมาย ทางการบริหาร หรือทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการประมง (ข้อ 9)

   3.2 หลักเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินข้อพิพาท คือ

         1) สิ่งที่ค้นพบทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของมาตรการในการอนุรักษ์

         2) มาตรการเฉพาะเรื่องนั้น กำหนดขึ้นโดยอาศัยสิ่งที่ค้นพบทางวิทยาศาสตร์และสามารถปฏิบัติได้ และ

         3) มาตรการนั้นไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อชาวประมงของรัฐอื่น (ข้อ 10)

   3.3 คำวินิจฉัยของคณะกรรมาธิการพิเศษจะมีผลผูกมัดรัฐที่เกี่ยวข้อง (รัฐคู่กรณีจะต้องยอมรับและปฏิบัติตาม) (ข้อ 11)



ที่มา : ศรัณย์ เพ็ชรพิรุณ. 2549. สมุทรกรณี. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ.