พิมพ์


อนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป

(Convention on the Continental Shelf)


ฉบับองค์การสหประชาชาติ คลิกที่นี่


    อนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป มีข้อกำหนดสิทธิของรัฐชายฝั่งเหนือพื้นท้องทะเลในทะเลอาณาเขตของตน คำนิยามและความกว้างของไหล่ทวีป โดยอนุสัญญานี้ยึดถือตามแนวทางทั่วไปของปฏิญญาทรูแมน (Truman Proclamation of 1945) แต่ในขอบเขตที่แคบกว่า 

    คำนิยามไหล่ทวีปในอนุสัญญานี้ค่อนข้างไม่ชัดเจน เพราะในความเป็นจริงสภาพภูมิศาสตร์พื้นทะเลในแต่ละบริเวณมีความแตกต่างและแปรปรวนอย่างมากในแต่ลสถานที่กัน โดยกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้อ้างอิงในอนุสัญญานี้ ได้แก่

              1. ระยะทาง 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง

              2. เส้นที่ลากห่างจากเชิงลาดทวีปไม่เกิน 60 ไมล์ทะเล

              3. เส้นห่างไม่เกิน 100 ไมล์ทะเลจากเส้นน้ำลึกเท่า 2,500 เมตร


สาระสำคัญโดยสังเขปของอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป มีดังนี้


      "เพื่อความมุ่งประสงค์ของข้อเหล่านี้ คำว่า "ไหล่ทวีป" ใช้อ้างอิงถึง

          (ก) พื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดินของบริเวณใต้ทะเลที่ประชิดกับชายฝั่ง แต่อยู่ภายนอกบริเวณทะเลอาณาเขตจนถึงความลึก 200 เมตร หรือเกินขีดจำกัดนั้นไปจนถึงที่ซึ่งความลึกของน่านน้ำเหนือที่นั้นสามารถจะแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณดังกล่าวได้

          (ข) พื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดินของบริเวณใต้ท้องทะเลเช่นเดียวกับที่ประชิดชายฝั่งของเกาะ (ข้อ 1)"




       "รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยเหนือไหล่ทวีป เพื่อความมุ่งประสงค์ในการสำรวจไหล่ทวีปและการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของไหล่ทวีป (ข้อ 2 วรรค 1)"




        "สิทธิของรัฐชายฝั่งเหนือไหล่ทวีปมิได้มีผลกระทบต่อสถานภาพทางกฎหมายของน่านน้ำที่อยู่เหนือในฐานะเป็นทะเลหลวง หรือห้วงอวกาศเหนือน่านน้ำเหล่านั้น (ข้อ 3)"



สิทธิและข้อจำกัดของรัฐชายฝั่งเหนือไหล่ทวีป



         "รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยเหนือไหล่ทวีป เพื่อความมุ่งประสงค์ในการสำรวจไหล่ทวีปและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเหนือไหล่ทวีป (ข้อ2 วรรค 1)"




        "สิทธิที่อ้างถึงในวรรค 1 ของข้อนี้ เป็นสิทธิจำเพาะโดยนัยที่ว่า ถ้ารัฐชายฝั่งไม่สำรวจไหล่ทวีปหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรไหล่ทวีป ผู้ใดจะเข้าดำเนินกิจกรรมเหล่านี้หรือเรียกร้องสิทธิในไหล่ทวีปโดยมิได้รับความยินยอมอย่างชัดแจ้งจากรัฐชายฝั่งไม่ได้ (ข้อ 2 วรรค 2)"




        "ทรัพยากรที่อ้างถึงในข้อเหล่านี้ ประกอบด้วยแร่และทรัพยากรที่ไม่มีชีวิตอย่างอื่นของพื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวทะเล รวมทั้งอินทรียภาพมีชีวิตซึ่งเป็นประเภทอยู่ติดที่ กล่าวคือ อินทรียภาพซึ่งในระยะที่อาจเก็บผลได้นั้นไม่เคลื่อนที่ไปบน หรือใต้พื้นดินท้องทะเล หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ เว้นแต่จะสัมผัสทางกายภาพอยู่เสมอกับพื้นดินท้องทะเลหรือดินใต้ผิวดิน (ข้อ 2วรรค 4)"




         "ภายในบังคบแห่งสิทธิของตนที่จะดำเนินมาตรการอันสมควรเพื่อการสำรวจไหล่ทวีปและการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของไหล่ทวีป รัฐชายฝั่งไม่อาจขัดขวางการวางหรือการบำรุงรักษาสายหรือท่อใต้น้ำบนไหล่ทวีป (ข้อ 4)"




          "การสำรวจไหล่ทวีปและการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของไหล่ทวีป ต้องไม่ยังผลอันเป็นการสอดแทรกโดยไม่มีเหตุผลสมควรต่อการเดินเรือ การประมง หรือการอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตในทะเล หรือยังผลให้เป็นการแทรกสอดต่อการวิจัยทางสมุทรศาสตร์... (ข้อ  5 วรรค 1)"



ที่มา : ศรัณย์ เพ็ชรพิรุณ. 2549. สมุทรกรณี. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ.