.

สื่อออนไลน์

Search this site

ลงทะเบียน

MKH Update

สถิติการเข้าชม


 

การทำเหมืองเเร่ในทะเล

 

จากปัญหาของแหล่งของทรัพยากรบนแผ่นดินที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้มนุษย์จำเป็นต้องแสวงหาแหล่งทรัพยากรแห่งใหม่ จึงมีแนวคิดในการสำรวจทะเล โดยใน พ.ศ. 2419 นักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติได้เริ่มต้นทำการสำรวจทะเล โดยใช้เรือ HMS Challenger ผลจากการสำรวจทำให้ทราบว่า หลายบริเวณในทะเล โดยเฉพาะบริเวณทะเลลึกมีแมงกานีส โนดูลส์ ซึ่งสามารถนำมาสกัดเป็นแร่ต่าง ๆ ได้ การสำรวจยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งใน พ.ศ. 2500 ได้มีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในการสำรวจทะเลจากเพื่อการศึกษาวิจัยเป็นเพื่อประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยีในการทำเหมืองแร่ในทะเล ทำให้มนุษย์มีการใช้ประโยชน์จากแมงกานีส โนดูลส์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ (ธนวรรธ กล้าปราบศึก, 2555)

การทำเหมื่องแร่ในทะเล ปี 2540-2553

 

ตัวอย่างกลุ่มแร่ที่สำรวจพบในทะเลของประเทศไทย

ทรายแก้ว (Silica Sand) คือ ทรายบริสุทธิ์ที่มีปริมาณซิลิคอนไดออกไซด์ (แร่ควอตซ์) หรือ
ซิลิกามากกว่าร้อยละ 95 และมีสารอื่น เช่น เหล็กออกไซด์ อะลูมิเนียมออกไซด์ แคลเซียมออกไซด์ แมกนีเซียมออกไซด์ และสารอินทรีย์ปะปนอยู่ในปริมาณที่ไม่เกินกำหนดสำหรับการใช้งานในแต่ละประเภท กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการสำรวจพบแหล่งทรายแก้วในประเทศไทยทั้งหมด 38 แหล่ง กระจายตัวอยู่ตามภาคต่าง ๆ ของประเทศ โดยแหล่งผลิตทรายแก้วที่สำคัญ คือ จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด และชุมพร สำหรับแหล่งทรายแก้วทั้งหมดในประเทศไทย ได้แก่

- ภาคใต้ มีแหล่งทรายแก้วทั้งหมด 16 แหล่ง เป็นแหล่งทรายชายฝั่งทะเลปัจจุบันและแหล่งชายฝั่งโบราณ ทรายแก้วชั้นบนเป็นทรายแก้วสกปรกสีดำ ชั้นกลางเป็นทรายแก้วคุณภาพดี มีสีขาวถึงน้ำตาล ชั้นล่างสุดเป็นทรายแก้วสีน้ำตาลแก่

- ภาคตะวันออก มีแหล่งทรายแก้วทั้งหมด 19 แหล่ง เป็นแหล่งทรายชายฝั่งทะเลปัจจุบันและแหล่งทรายชายฝั่งโบราณ ทรายแก้วชั้นมีสีน้ำตาลถึงดำ มีสารอินทรีย์ปนอยู่
ชั้นกลางเป็นทรายแก้วคุณภาพดี มีสีขาวเทาอมชมพู น้ำตาลอมเหลืองอ่อน ชั้นล่างเป็นทรายแก้ว
เกรดต่ำ

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแหล่งทรายแก้วทั้งหมด 3 แหล่ง ได้แก่ บ้านดอนแก้ว อำเภอบึงกาฬ บ้านนาทราย และบ้านสันทรายงาม อำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย เป็นทรายบกชนิดทรายแม่น้ำ

 

ดีบุก หรือแร่แคสซิเทอไรต์ (Cassiterite) มีส่วนประกอบของดีบุกร้อยละ 78.6 ออกซิเจนร้อยละ 21.4 และอาจมีเหล็กปนเล็กน้อย แร่ดีบุกถูกนำมาใช้เคลือบโลหะ เนื่องจากโลหะที่ถูกเคลือบด้วยดีบุกจะมีความทนทานต่อการกัดกร่อนของกรดและสารละลายอื่น ๆ ได้ ไม่เป็นสนิม และไม่เป็นพิษต่อร่างกาย จึงถูกนำมาใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้ ยังใช้ทำตะกั่วบัดกรี และดีบุกในรูปของสารประกอบถูกนำไปใช้ประโยชน์หลายอย่าง กรมทรัพยากรธรณีได้ทำการสำรวจบริเวณทะเล
อันดามัน พบแหล่งแร่ดีบุกชนิดลานแร่ โดยลักษณะของแหล่งลานแร่ดีบุกในทะเลอันดามัน จำแนกเป็นแหล่งแร่ชนิดต่าง ๆ ได้ดังนี้

- แหล่งร่องน้ำโบราณนอกชายฝั่ง (Offshore Paled-Channel Deposit) พบบริเวณร่องน้ำโบราณไหลจากปากแม่น้ำลงสู่ทะเล เป็นบริเวณที่มีความสมบูรณ์ของแร่ดีบุกมากที่สุด เช่น บริเวณนอกชายฝั่งอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และในอ่าวภูเก็ต ที่ระดับความลึกของน้ำตั้งแต่ชายฝั่งลงไปถึงระดับน้ำ 40 เมตร มักพบแร่ดีบุกปนกับตะกอนชนิดทรายหยาบถึงกรวด

- แหล่งลานแร่นอกชายฝั่ง (Offshore Placer Deposit) พบบริเวณตั้งแต่แนวชายหาดลงไปในทะเลถึงระดับความลึก 30 เมตร โดยพบแร่ดีบุกและแร่พลอยได้ที่มีความสมบูรณ์สูงบริเวณใกล้ฝั่งและพบลดลงเมื่อไกลออกไปในทะเล บริเวณที่พบแหล่งแร่ดีบุกและแร่พลอย แบ่งได้เป็น 3 บริเวณ คือ บริเวณนอกชายฝั่งจังหวัดระนองและพังงา บริเวณนอกชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต และอ่าวในหมู่เกาะอาดัง-ราวี จังหวัดสตูล

นอกจากนี้ ยังมีการพบแหล่งแร่ดีบุกและแร่พลอยได้ เช่น แร่โคลัมไบต์ แทนทาไลต์ และแร่ตระกูลโคลัมเบียม-แทนทาลัม ซึ่งมีราคาสูงกว่าแร่ดีบุกมาก บริเวณใกล้ชายฝั่งและนอกชายฝั่งจังหวัดระนองและพังงา ความสมบูรณ์ของแร่ดีบุกจะมีมากและกระจายลงมาทางใต้ด้วยกระแสน้ำชายฝั่ง (Long Shore Current)

 

ผลกระทบของกิจกรรมเหมืองแร่ในทะเลต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

สำหรับสถานการณ์ของกิจกรรมเหมืองแร่ในทะเลของประเทศไทย แม้ในปัจจุบันการดำเนินกิจกรรมการทำเหมืองแร่ในทะเลจะยุติลง แต่เนื่องด้วยปริมาณความต้องการแร่ของภาคอุตสาหกรรมยังคงมีอยู่ ทำให้ยังคงมีความพยายามในการสำรวจแหล่งแร่เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะแหล่งในทะเลลึก

การดำเนินกิจกรรมเหมืองแร่ในทะเลจากในอดีตที่ผ่านมา เป็นกิจกรรมการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเลรูปแบบหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรในทะเล โดยเฉพาะขั้นตอนของการขุดแร่ ที่เป็นการรบกวนตะกอนที่อยู่พื้นทะเลทำให้ตะกอนเกิดการฟุ้งกระจายขึ้นมา ซึ่งการฟุ้งกระจายของตะกอนจะลดความสามารถในการส่งผ่านของแสงลงสู่ในน้ำ ทำให้ประสิทธิภาพในการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช และพืชน้ำลดลง ปริมาณออกซิเจนในน้ำจึงลดลงเช่นเดียวกัน นอกจากนี้การขุดแร่ยังทำให้สารพิษจำพวกโลหะหนักที่ตกตะกอนอยู่ตามชั้นดินฟุ้งกระจายขึ้นมา และทำให้น้ำทะเลเกิดการปนเปื้อนของโลหะหนัก ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ รวมถึงมนุษย์

ขณะเดียวกันการฟุ้งกระจายของตะกอนยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตหลายชนิดโดยตรง เช่น ตะกอนเข้าไปอุดตันบริเวณอวัยวะที่ใช้หายใจของสิ่งมีชีวิต ทำให้อวัยวะที่ใช้หายใจทำงานผิดปกติ หรือตะกอนปกคลุมทับถมบนปะการัง ทำให้ปะการังไม่สามารถหาอาหารได้ ส่งผลทำให้ปะการังอ่อนแอและตาย ระบบนิเวศแนวปะการังจึงเกิดความเสื่อมโทรมลง

 

 

ที่มา

ธนวรรธ กล้าปราบศึก.  2555.  การทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกกับบทบาทขององค์การพื้นดินทะเลลึกระหว่างประเทศในกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเล.  วิทยานิพนธ์ปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



bottom

top

Latest News

Popular


bottom