พิมพ์

 

 อาณาเขตทางทะเล (Maritime Zone)

      

         ประเทศไทยมีอาณาเขตทางทะเล (Maritime Zone) ตาม อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 เท่ากับ 323,488.32 ตารางกิโลเมตร (ตารางที่ 1 และ รูปที่ 2) ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 60 ของอาณาเขตทางบกที่มีเนื้อที่อยู่ประมาณ 513,115 ตารางกิโลเมตรโดยมีความยาวชายฝั่งทะเล ทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน รวมถึงช่องแคบมะละกาตอนเหนือ รวมความยาวชายฝั่งทะเลในประเทศไทยทั้งสิ้น 3,148.23 กิโลเมตร ครอบคลุม 23 จังหวัด

         คนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากทะเลไม่ฉพาะแต่ในเขตทางทะเลของประเทศเราเองเท่านั้น หากยังสามารถใช้ทะเลไปถึงนอกเขตทางทะเลของประเทศด้วย เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากทะเลเป็นมาตรฐานเดียวกัน อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฏหมายทะเล ค.ศ. 1982[1] จึงได้กำหนดเขตน่านน้ำทางทะเลออกเป็น 6 เขต (รูปที่ 1) ได้แก่

น่านน้ำภายใน (Internal Waters)
ทะเลอาณาเขต (Territorial Waters)  
เขตต่อเนื่อง (Contiguous Zone)
เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zones)
ไหล่ทวีป (Continental Shelf)
ทะเลหลวง (High Seas)
บริเวณพื้นที่ (The Area)

 

 รูปที่ 1 ภาพตัดขวางแสดงเขตทางทะเลตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982

(ดัดแปลงมาจาก http://pubs.rsc.org/en/Content/ArticleHtml/2014/NP/c3np70123a)

    *หมายเหตุ: 1. บริเวณไหล่ทวีป มีระยะทางไม่เกิน 350 ไมล์ทะเล จากเส้นฐาน (baseline) หรือ เลยออกไปไม่เกิน 100 ไมล์                                  ทะเล จากเส้นชันความลึก (contouring) 2,500 เมตร

2. อำนาจอธิปไตย (Sovereign) หมายถึง ความเป็นอำนาจสูงสุดของรัฐ (Autonomous of State) ที่จะดำเนินกิจกรรมใดๆในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายในอาณาเขตแห่งรัฐ อันเป็นหลักการทางการเมืองซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ที่มีอยู่กับรัฐทุกรัฐอย่างเท่าเทียมกัน เกิดขึ้นและตั้งอยู่เป็นพื้นฐานของรัฐที่จะไปใช้อำนาจภายในและความสัมพันธ์กับรัฐอื่นซึ่งรวมถึงการใช้สิทธิอธิปไตยของรัฐนั้นๆ ด้วย (https://www.gotoknow.org/posts/38897)

3. สิทธิอธิปไตย (Sovereign right) หมายถึง สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของรัฐแต่ก็เป็นสิทธิสูงสุดที่ ครอบคลุมเป็นการเฉพาะเจาะจง เช่น สิทธิเหนือทรัพยากรแร่ธาตุ ความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุกรรมที่สำคัญเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของความตกลงร่วมกันของรัฐภาคีที่ใช้อำนาจอธิปไตย มีเป้าหมายสำคัญที่จะแสดง  1) รับรองสิทธิและอำนาจเหนือฐานทรัพยากรเฉพาะที่ระบุไว้ใน ความตกลง 2)เป็นหลักการทางกฎหมายที่จะไปสร้างข้อผูกพัน (Obligation) และหน้าที่ของรัฐ (Duty of State) ที่จะให้ความเคารพและยึดถือปฏิบัติในทางระหว่างประเทศ สิทธิอธิปไตยที่ว่านี้เป็นสิทธิที่รับรองให้แก่รัฐที่มีอำนาจอธิปไตยเพื่อเข้าไปบริหารจัดการให้อยู่ภายใต้เขตอำนาจแห่งรัฐ (National Jurisdiction) (https://www.gotoknow.org/posts/38897)

 

 

รูปที่ 2 แผนที่อาณาเขตทางทะเลของประเทศไทย

  แผนที่บน Google Earth

 

ตารางที่ 1 พื้นที่ของอาณาเขตทางทะเลของประเทศไทย [2]

เขตทางทะเล

พื้นที่ (ตารางกิโลเมตร)
ฝั่งอ่าวไทย ฝั่งอันดามัน และช่องแคบมะละกาตอนเหนือ
น่านน้ำภายใน 54,103.47 7,850.57
ทะเลอาณาเขต 29,344.36 23,723.86
เขตต่อเนื่อง 23,909.18 13,604.04
เขตเศรษฐกิจจำเพาะ 88,193.97 75,633.65

พื้นที่พัฒนาร่วม ไทย-มาเลเซีย

(อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ)
7,125.22  
รวม 202,676.20 120,812.12
รวมเขตทะเลของประเทศไทย   323,488.32

  

 

น่านน้ำภายใน (Internal Waters)

       คือ น่านน้ำทางด้านแผ่นดินของเส้นฐาน (baselines) แห่งทะเลอาณาเขต (อนุสัญญาฯ ข้อ 8 วรรคหนึ่ง) เช่น อ่าว แม่น้ำ ปากแม่น้ำ ทะเลสาบ เป็นต้น ซึ่งรัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตย (sovereignty) เหนือน่านน้ำภายใน (อนุสัญญาฯ ข้อ 2) ในทำนองเดียวกับที่รัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน (territory) ดังนั้นหากเรือต่างชาติหรืออากาศยานต่างชาติจะผ่านเข้ามาในเขตน่านน้ำภายในของรัฐชายฝั่ง เรือต่างชาติ หรืออากาศยานต่างชาตินั้นจะต้องขออนุญาตรัฐชายฝั่งก่อน ได้แก่ พื้นที่ที่แสดงด้วยสีเขียวทั้งหมด ซึ่งอยู่ด้านในถัดจากเส้นฐานไปถึงฝั่ง มีอยู่ 5 บริเวณ ดังนี้ 

  • อ่าวประวัติศาสตร์ ได้แก่พื้นที่บริเวณอ่าวไทยรูปตัว ก. เหนือเส้นฐานที่กำหนดขอบเขตอ่าวประวัติศาสตร์
  • บริเวณที่ 1 ได้แก่พื้นที่บริเวณแหลมลิง ถึงหลักเขตแดนไทย-เขมร
  • บริเวณที่ 2 ได้แก่พื้นที่บริเวณตั้งแต่แหลมใหญ่ ถึงแหลมหน้าถ้ำ
  • บริเวณที่ 3 ได้แก่พื้นที่บริเวณตั้งแต่เกาะภูเก็ต ถึงพรมแดนไทย-มาเลเซีย เชื่อมเส้นฐานตรงและน่านน้ำภายในของประเทศไทย
  • บริเวณที่ 4 ได้แก่พื้นที่บริเวณตั้งแต่เกาะกงออก ถึงพรมแดนไทย-มาเลเซีย

 

 

 ทะเลอาณาเขต (Territorial Waters)

       อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ได้กำหนดความกว้างของทะเลอาณาเขตว่าต้องไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลโดยวัดจากเส้นฐาน (baselines) ได้แก่ พื้นที่ที่แสดงด้วยสีเหลือง ซึ่งรัฐชายฝั่งเป็นผู้กำหนดตามหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศ 

       รัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตยเหนือทะเลอาณาเขตของตน ซึ่งหมายความรวมถึงอำนาจอธิปไตยในห้วงอากาศ (air space) เหนือทะเลอาณาเขต อำนาจอธิปไตยเหนือพื้นดินท้องทะเล (sea-bed) และดินใต้ผิวดิน (subsoil) แห่งทะเลอาณาเขตด้วย [อนุสัญญาฯ ข้อ 2 (1) และ (2)] โดยมีข้อยกเว้นในการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐชายฝั่งเหนือทะเลอาณาเขต คือ “การใช้สิทธิการผ่านโดยสุจริต” (right of innocent passage) ของเรือต่างชาติในทะเลอาณาเขตของรัฐชายฝั่ง (อนุสัญญาฯ ข้อ 17) ซึ่งการผ่านจะสุจริตนั้นจะต้องไม่เป็นการเสื่อมเสียต่อสันติภาพ ความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงต่อรัฐชายฝั่ง [อนุสัญญาฯ ข้อ 19(1)]

 

 

เขตต่อเนื่อง (Contiguous Zone)

      อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลปี ค.ศ. 1982 กำหนดให้เขตต่อเนื่องมิอาจขยายเกินกว่า 24 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน ซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต (อนุสัญญาฯ ข้อ 33 วรรคสอง) ได้แก่ พื้นที่ที่แสดงด้วยสีน้ำเงิน

        รัฐชายฝั่งอาจดำเนินการควบคุมที่จำเป็นเพื่อป้องกันการฝ่าฝืนกฎหมาย และข้อบังคับเกี่ยวกับศุลกากร (customs) การคลัง (fiscal) การเข้าเมือง (immigration) หรือการสุขาภิบาล (sanitation) ภายในอาณาเขต หรือทะเลอาณาเขตของตน  และลงโทษการฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับดังกล่าวซึ่งได้กระทำภายในอาณาเขต หรือทะเลอาณาเขตของตน รัฐชายฝั่งมีหน้าที่ในการคุ้มครองวัตถุโบราณ หรือวัตถุทางประวัติศาสตร์ที่พบใต้ทะเลในเขตต่อเนื่อง

  

 

เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zones) 

       คือ บริเวณที่ประชิดและอยู่เลยไปจากทะเลอาณาเขต โดยเขตเศรษฐกิจจำเพาะจะต้องไม่ขยายออกไปเกิน 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน ซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต (อนุสัญญาฯ ข้อ 55 และข้อ 57) ได้แก่ พื้นที่ที่แสดงด้วยสีฟ้าและสีม่วง

       รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยเพื่อความมุ่งประสงค์ในการสำรวจ (exploration) และการแสวงประโยชน์ (exploitation) การอนุรักษ์ (conservation) และการจัดการ (management) ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตในน้ำเหนือพื้นดินท้องทะเล (water superjacent to the sea-bed) และในพื้นดินท้องทะเล (sea-bed) กับดินใต้ผิวดิน (subsoil) ของพื้นดินท้องทะเลนั้น และมีสิทธิอธิปไตยในส่วนที่เกี่ยวกับกิจกรรมอื่นๆ เพื่อการแสวงประโยชน์ และการสำรวจทางเศรษฐกิจในเขต อาทิเช่น การผลิตพลังงานจากน้ำ (water) กระแสน้ำ (currents) และลม (winds) [อนุสัญญาฯ ข้อ 56 วรรคหนึ่ง(เอ)] รัฐชายฝั่งมีสิทธิแต่ผู้เดียว (exclusive rights) ในการสร้างหรืออนุญาตให้สร้าง และควบคุมการสร้างเกาะเทียม (artificial islands) สิ่งติดตั้ง (installations) และสิ่งก่อสร้าง (structures) เพื่อทำการสำรวจ และแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีชีวิตในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือควบคุมการใช้สิ่งติดตั้งหรือสิ่งก่อสร้างอันอาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิของรัฐชายฝั่งในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ โดยสิทธิและการปฏิบัติหน้าที่ของตนภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยเขตเศรษฐกิจจำเพาะ รัฐชายฝั่งจะต้องคำนึงตามควรถึงสิทธิและหน้าที่ของรัฐอื่นๆ และจะต้องปฏิบัติการในลักษณะที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ นี้ [อนุสัญญาฯ ข้อ 56(2)]

       รัฐอื่นๆ ย่อมมีเสรีภาพในการเดินเรือ (freedom of navigation) การบินผ่าน (freedom of over flight) การวางสายเคเบิลและท่อใต้ทะเล (freedom of the laying of submarine cables and pipelines)

  

 

ไหล่ทวีป (Continental Shelf)

       หมายถึง พื้นดินท้องทะเล (sea bed) และดินผิวใต้ดิน (subsoil) ของบริเวณใต้ทะเลซึ่งขยายเลยทะเลอาณาเขตของรัฐตลอดส่วนต่อออกไปตามธรรมชาติ (natural prolongation) ของดินแดนทางบกของตนจนถึงริมนอกของขอบทวีป (continental margin) มีระยะทางไม่เกิน 350 ไมล์ทะเล จากเส้นฐาน (baseline) หรือ เลยออกไปไม่เกิน 100 ไมล์ทะเล จากเส้นชันความลึก (contouring) 2,500 เมตร

  • รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตย (sovereign rights) เหนือทรัพยากรธรมรมชาติบนและใต้ไหล่ทวีป ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต โดยมีลักษณะพิเศษ 2 ประการ คือ

  • เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (exclusive rights) กล่าวคือ หากรัฐชายฝั่งไม่สำรวจหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรบนหรือใต้ไหล่ทวีปแล้ว รัฐอื่นจะสำรวจหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรบนหรือใต้ไหล่ทวีปโดยมิได้รับความยินยอมอย่างชัดแจ้งจากรัฐชายฝั่งมิได้

        สิทธิของรัฐชายฝั่งเหนือไหล่ทวีปนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการครอบครอง (occupation) ไม่ว่าอย่างแท้จริงหรือเพียงในนามหรือกับการประกาศอย่างชัดแจ้งใดๆ กล่าวคือ สิทธิของรัฐชายฝั่งเหนือเขตไหล่ทวีปนั้นเป็นสิทธิที่รัฐชายฝั่งมีอยู่แต่ดั้งเดิม (inherent rights) โดยไม่ต้องทำการประกาศเข้ายึดถือเอาแต่อย่างใด รัฐชายฝั่งได้สิทธิอธิปไตยดังกล่าวมาโดยอัตโนมัติ

 

 

ทะเลหลวง (High Seas)  

        หมายถึง ทุกส่วนของทะเลซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone) ในทะเลอาณาเขต (territotial sea) หรือในน่านน้ำภายใน (internal water) ของรัฐ หรือในน่านน้ำหมู่เกาะ (archipelagic waters) ของรัฐหมู่เกาะ (อนุสัญญาฯ ข้อ 86)

       เป็นที่น่าสังเกตว่าห้วงน้ำ (water column) และผิวน้ำเหนือไหล่ทวีปที่อยู่นอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะยังคงเป็นเขตทะเลหลวง ถึงแม้ไหล่ทวีปและทรัพยากรบนไหล่ทวีปจะตกอยู่ภายใต้สิทธิอธิปไตย (sovereign rights) ของรัฐชายฝั่งก็ตาม ทะเลหลวงเปิดให้แก่รัฐทั้งปวง ไม่ว่ารัฐชายฝั่ง (coastal state) หรือรัฐไร้ฝั่งทะเล (landlocked states)

       เสรีภาพแห่งทะเลหลวงใช้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยอนุสัญญาฯ และหลักเกณฑ์อื่นๆ ของกฎหมายระหว่างประเทศ อาทิเช่น  เสรีภาพในการเดินเรือ (freedom of navigation) เสรีภาพในการบินผ่าน (freedom of overflight) เสรีภาพในการทำประมง (freedom of fishing) โดยหน้าที่ประการสำคัญของรัฐต่างๆที่ทำการปรมงในทะเลหลวงคือ ต้องร่วมมือกันเพื่อกำหนดมาตรการในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรที่มีชีวิตในท้องทะเล

 

 

บริเวณพื้นที่ (The area) 

        หมายถึง พื้นทะเลก้นทะเล (seabed) และพื้นผิวดิน (subsoil) ซึ่งอยู่นอกเหนือเขตอำนาจของประเทศทรัพยากรในบริเวณดังกล่าวเป็นมรดกร่วมของมนุษยชาติ 

 

 

 

ที่มา : 

[1] กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย. 2548. หนังสือแปล อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982, กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ, กรุงเทพฯ.

[2] กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. อาณาเขตทางทะเลไทย. http://marinegiscenter.dmcr.go.th/km/maritimezone_doc1/#.WOxRRGnygdV

Biodiversity. "Area (UNCLOS)". [ออนไลน์]. เข้าถึงจาก: http://biodiversitya-z.org/content/area-unclos. สืบค้นวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561