พิมพ์

 

การทำเหมืองเเร่ในทะเล

 

           การสำรวจแร่ในทะเลไทย 

 

            การสำรวจทรัพยากรแร่ในทะเลอย่างเป็นระบบของประเทศไทย เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2522 โดยกรมทรัพยากรธรณี ได้รับความร่วมมือจากองค์กร United Nations Development Progremme (UNDP) จัดตั้ง “โครงการสำรวจแร่ดีบุกและแร่หนักนอกชายฝั่งทะเลอันดามัน (ปี 2522-2529)” เพื่อดำเนินการสำรวจบริเวณนอกชายฝั่งจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต ที่ระดับน้ำลึกไม่เกิน 50 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 22,000 ตารางกิโลเมตร

            ต่อมาในปี 2530 ได้จัดตั้ง “โครงการสำรวจแร่นอกชายฝั่งทะเลอ่าวไทย (ปี 2530-2538)” เพื่อดำเนินการสำรวจบริเวณนอกชายฝั่งจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราชครอบคลุมพื้นที่ 20,955 ตารางกิโลเมตร

            ในปี 2541 จัดตั้ง “โครงการสำรวจทรัพยากรธรณีในทะเล (ปี 2541-2544)” โดยดำเนินการสำรวจบริเวณนอกชายฝั่งทั้งทะเลอันดามันและอ่าวไทยครอบคลุม พื้นที่ 13,120 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณียังคงมีการสำรวจอยู่ภายใต้ระบบงานสำรวจทรัพยากรธรณี ในทะเลของเศรษฐธรณีวิทยา

            ผลการสำรวจในอ่าวไทยพบ แร่คอรันดัม บริเวณนอกชายฝั่งอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี แต่เป็นเม็ดขนาดเล็กประมาณ 1-3 มิลลิเมตร กรวดทรายก่อสร้าง ก็ได้มีการสำรวจพบบริเวณอ่าวระยองมีกรวดทราย สะสมตัวปริมาณไม่น้อยกว่า 450 ล้านลูกบาศก์เมตร

            ในทะเลอันดามัน สำรวจพบพื้นที่ที่มีแร่ ดีบุก และแร่หนักมีค่าใน 3 บริเวณด้วยกัน คือ บริเวณนอกชายฝั่งจังหวัดระนองและพังงา บริเวณรอบจังหวัดภูเก็ต และอ่าวในหมู่เกาะอาดัง-ราวี จังหวัดสตูล และสรุปได้ว่าแร่ดีบุกและแร่หนักมีค่าในพื้นที่ส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดมาจากบนบก แล้วถูกพัดพาลงสู่ทะเลทำให้เกิดแหล่งลานแร่ ยกเว้นแหล่งดีบุกทางตะวันออกของอ่าวภูเก็ตที่พบว่าเกิดแบบปฐมภูมิ

             พบแร่ เพชร ที่เป็นผลพลอยได้จากการทำเหมืองแร่ดีบุกนอกชายฝั่งอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ในคลองพังงาและอ่าวภูเก็ตนั้น พบว่าเกิดแบบทุติยภูมิ สันนิษฐานว่ามีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาบนบกซึ่งครอบคลุม 4 จังหวัด คือ จังหวัดระนอง พังงา กระบี่ และสุราษฎร์ธานี

             ถ่านหิน ซับบิทูมินัส ได้มีการเจาะสำรวจพบชั้นถ่านหินชนิดนี้หนาประมาณ 3 เมตร คลุมพื้นที่ประมาณ 8 ตารางกิโลเมตร บริเวณนอกชายฝั่งจังหวัดกระบี่ และบริเวณทางตะวันตกเฉียงใต้ห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 40 กิโลเมตร คลุมพื้นที่ประมาณ 50 กิโลเมตร

            และพบตัวอย่างหินเป็นแร่ฟอสเฟตในรูปของ ฟอสเฟต-โนดูลส์ ฟอสฟอไรต์สีน้ำตาลเข้มถึงดำ ชนิดเฟอโรฟอสเฟตมีปริมาณฟอสฟอรัสเพนตอกไซด์ (P2O5) อยู่ร้อยละ 2.21-14.68 จากพื้นทะเลที่ระดับน้ำลึกประมาณ 100 - 500 เมตร

 
mine src=http://mrpolicy.trf.or.th/Portals/2/Resources/Mine/map-wh-mine.jpg
แหล่งทรัพยากรแร่ในทะเลไทย

ที่มา: ดัดแปลงจาก กรมทรัพยากรธรณี. 2543. แหล่งแร่ดีบุกในทะเลอันดามัน. วารสารเศรษฐธรณีวิทยา, 2(12): หน้า 3-4.
 
 
 

            ปริมาณแร่สำรองในอ่าวไทย

ชื่อพื้นที่
บริเวณนอกชายฝั่ง
พื้นที่สำรวจ
(ตร.กม.)
พื้นที่แหล่งแร่
(ตร. กม.)
ปริมาณแร่ (ตัน)
ดีบุก
แร่หนักมีค่า
1A
จ. ระยอง (อ่าวระยอง)
1100
200
-
250,000
1C
จ. ระยอง (อ.แกลง)
2400
285
-
180,000
1D
จ. จันทบุรี-ระยอง
250
67.5
-
30,000
2AB
จ. ประจวบคีรีขันธ์
2710
40.5
980
48,000
3AB
จ. สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย-พงัน)
1280
60.7
2,500
250,000
4
จ. นครศรีธรรมราช
2360
175
-
280,000

หมายเหตุ : แร่หนักมีค่า ประกอบด้วย Ilmenite, Rutile, Monazite, Tourrnaline, Zircon, Xenotime

 

            ปริมาณแร่สำรองในอันดามัน

ชื่อพื้นที่
บริเวณนอกชายฝั่ง
พื้นที่สำรวจ (ตร.กม.)
พื้นที่แหล่งแร่ (ตร.กม.)
ปริมาณแร่ (ตัน)
ดีบุก
แร่หนักมีค่า
A
จ. ระนอง
1,496
400
90,000
225,637
B
จ. พังงา
560
26
19,000
120,608
C
จ. พังงา-ภูเก็ต
121
10
5,000
10,000
ท้ายเหมือง
จ. พังงา
240
134
19,000
141,285
D
จ. ภูเก็ต
400
41
26,000
44,125
อ่าวพังงา
จ. พังงา
365
8
31,000
-

 

หมายเหตุ : แร่หนักมีค่า ประกอบด้วย Ilmenite, Rutile, Monazite, Tourrnaline, Zircon, Xenotime

ที่มา :   รังสิโรจน์  วงศ์พรหมเมฆ. 2552. สถานภาพ โอกาส สิ่งท้าทายการพัฒนาทรัพยากรเเร่. โอกาสเเละสิ่งท้าทายในการใช้ทะเลของประเทศไทยอยู่ตรงไหน ครั้งที่4: ทรัพยากรไม่มีชีวิต. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

 

           การผลิต การบริโภค และปริมาณสำรอง

         การผลิต การบริโภค และปริมาณสำรอง ซึ่งจะรายงานเฉพาะกลุ่มแร่ที่มีการสำรวจพบแหล่งแร่ในทะเลเท่านั้น มีดังต่อไปนี้

           กลุ่มแร่เซรามิกส์และเครื่องแก้ว

         แร่กลุ่มนี้นับว่ามีบทบาทที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบหลักจากในประเทศ คือ แร่ดิน ดินขาวบอลเคลย์ เบนทอไนต์ ดิกไคต์ เฟลด์สปาร์ และทรายแก้ว ซึ่งประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ถึง 7,347 ล้านบาท และแก้ว 4,013 ล้านบาท  สถิติผลผลิตแร่ในกลุ่มนี้ยังไม่ครบถ้วน เนื่องจากเป็นตัวเลขจากแปลงประทานบัตรเท่านั้น ยังขาดผลผลิตอีกส่วนที่ไม่มีประทานบัตรในที่ดินกรรมสิทธิ์  และการขุดดินหรือทรายที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมอย่างทั่วถึง
          ปริมาณสำรองของแร่กลุ่มนี้ยังมีอยู่ในระดับสูง แต่จำเป็นจะต้องมีการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกันระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากแหล่งแร่ดินและทรายแก้วส่วนใหญ่อยู่ในที่ราบและชายทะเล จึงมีปัญหาเรื่องที่ตั้งของชุมชน แหล่งท่องเที่ยว ระบบนิเวศชายฝั่งทะเล และอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
        ผลผลิตแร่ในกลุ่มนี้ยังมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอและคุณภาพแร่ไม่สูงพอ ทำให้ต้องมีการปรับปรุงคุณภาพก่อนที่จะใช้เป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรม และแร่บางชนิดจำเป็นต้องนำเข้า จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขในขบวนการผลิตโดยด่วน ตั้งแต่ขั้นตอนการทำเหมือง การให้ความรู้ ความเข้าใจทางด้านเทคนิคแก่ผู้ประกอบการ การพัฒนาคุณภาพ และการร่วมงานระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาคราชการและเอกชน เพื่อลดการนำเข้า ลดการสูญเสีย และยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ 

 

           ทรายแก้ว

         ทรายแก้ว (Silica Sand) คือ ทรายบริสุทธิ์ที่มีปริมาณซิลิคอนไดออกไซด์ (SiO2: แร่ควอตซ์) หรือ ซิลิกามากกว่าร้อยละ 95  และมีสารอื่น เช่น เหล็กออกไซด์ อะลูมิเนียมออกไซด์ แคลเซียมออกไซด์ แมกนีเซียมออกไซด์ และสารอินทรีย์ปะปนอยู่เล็กน้อยในปริมาณที่ไม่เกินกำหนดสำหรับการใช้งานในแต่ละประเภท
 
         ปริมาณการผลิตและปริมาณสำรอง
 
        ตั้งแต่ปี 2505-2544 กรมทรัพยากรธรณีสำรวจพบแหล่งทรายแก้วในประเทศไทยจำนวน 38 แหล่ง อยู่ตามภาคต่างๆ โดยมีปริมาณสำรองไม่น้อยกว่า 250 ล้านเมตริกตันอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และแหล่งท่องเที่ยว 155 ล้านเมตริกตัน ส่วนที่อยู่นอกเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์และแหล่งท่องเที่ยวประมาณ 95 ล้านเมตริกตัน ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นแหล่งแร่ได้ โดยแหล่งทรายแก้วในประเทศได้แก่

  • ภาคใต้ เป็นแหล่งทรายชายฝั่งทะเลปัจจุบันและแหล่งชายฝั่งโบราณ ทรายแก้วชั้นบนเป็นทรายแก้วสกปรกสีดำ มีสารอินทรีย์ปนอยู่หนา 10-30 เซนติเมตร ชั้นกลางเป็นทรายแก้วคุณภาพดี มี สีขาวถึงน้ำตาลอ่อนหนา 0.6-2 เมตร ชั้นล่างสุดเป็นทรายสีน้ำตาลแก่ มีจำนวนแหล่งทรายทั้งหมด 16 แหล่ง รวมปริมาณสำรอง 140 ล้านเมตริกตัน

 

       แหล่งผลิตทรายแก้วที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ส่วนภาคใต้ผลิตที่จังหวัดชุมพร แต่มีปริมาณค่อนข้างน้อย โดยตั้งแต่ปี 2522 จนถึงปี 2544 แหล่งทรายแก้วใน 4 จังหวัดดังกล่าวมีผลผลิตรวมทั้งหมด 7.5 ล้านเมตริกตัน ผลผลิตทรายแก้วอยู่ในเกณฑ์เพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา จะมีลดต่ำลงบ้างในช่วงเวลาสั้นๆ ทั้งนี้ผลผลิตทรายแก้วขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ภายในประเทศเป็นหลัก

 

         ปริมาณการส่งออกและนำเข้า

        ทรายแก้วเป็นแร่ที่ห้ามส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ จึงไม่มีการส่งออกใดๆ แต่มีการนำเข้าทรายแก้วในรูปของทราย ซิลิกา และทรายควอตซ์ (ทรายแก้วคุณภาพสูงที่ไม่มีการผลิตในประเทศ เนื่องจากต้นทุนและค่าใช้จ่ายสูงแต่ความต้องการใช้มีน้อย) โดยนำเข้ามาเพื่อใช้ในโรงงานผลิตแก้วเจียระไนและแก้วคริสตัล ซึ่งต้องการทรายแก้วที่มีปริมาณเหล็กต่ำมาก และนำเข้ามาเพื่อใช้เป็นส่วนผสมสำหรับปรับคุณภาพทรายแก้วให้ได้มาตรฐานในอุตสาหกรรมแต่ละชนิด ในปี 2544 มีปริมาณการนำเข้า 17,371 เมตริกตัน คิดเป็นมูลค่า 52.8 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เยอรมัน และฝรั่งเศส และมีนำเข้าจากประเทศใกล้เคียง เช่น สาธารณรัฐกัมพูชา มาเลเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นการนำเข้าเพื่อทดแทนการผลิตภายในประเทศที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

 

           ดีบุก

         ดีบุก (Tin) หรือแร่แคสซิเทอไรต์ (Cassiterite : SnO2) มี Sn 78.6 % และ O 21.4 % อาจมีเหล็กปนเล็กน้อย แร่ดีบุกถูกนำมาใช้เคลือบโลหะอื่น เช่น เหล็ก ทองแดง และทองเหลือง โลหะที่ถูกเคลือบด้วยดีบุกจะมีคุณสมบัติทนการกัดกร่อนของกรดและสารละลายอื่นๆได้ ไม่เป็นสนิม และไม่เป็นพิษต่อร่างกาย จึงถูกนำมาทำภาชนะบรรจุอาหาร การใช้ประโยชน์อื่น เช่น ใช้ทำตะกั่วบัดกรีซึ่งหลอมละลายง่าย เมื่อเย็นตัวลงจะทำให้เกิดการยึดเกาะระหว่างผิวหน้าของโลหะ และดีบุกในรูปของสารประกอบถูกนำไปใช้ประโยชน์หลายอย่าง

         ปริมาณทรัพยากรแร่ดีบุกในทะเลไทย

         ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางแร่ดีบุก โดยในช่วงปี 2504-2537 มีการผลิตแร่ดีบุกขึ้นเป็นปริมาณ 899,244 เมตริกตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 106,644 ล้านบาท และถูกจัดอันดับให้เป็นผู้ผลิตแร่ดีบุกมากเป็นอันดับที่ 1 ถึง 4 ของโลกอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2510-2527

         กรมทรัพยากรธรณีได้ทำการสำรวจทั้งทางธรณีฟิสิกส์และเจาะสำรวจในทะเลอันดามัน บริเวณชายฝั่งจังหวัดระนองถึงจังหวัดสตูล พบได้ว่าแหล่งแร่ดีบุกในทะเลอันดามันเป็นแหล่งแบบทุติยภูมิชนิดลานแร่ โดยลักษณะของแหล่งลานแร่ดีบุกในทะเลอันดามัน จำแนกเป็นแหล่งแร่ชนิดต่างๆ ได้ดังนี้
 
  • แหล่งร่องน้ำโบราณนอกชายฝั่ง (Offshore Paled-Channel Deposit) บริเวณร่องน้ำโบราณเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์แร่ดีบุกมากที่สุด มักพบแร่ดีบุกปนกับตะกอนชนิดทรายหยาบถึงกรวด (ชาวบ้านเรียก หินแก้ว) พบเป็นร่องน้ำจากปากแม่น้ำลงสู่ทะเล เช่น ที่บริเวณนอกชายฝั่งอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และในอ่าวภูเก็ต ระดับความลึกของน้ำตั้งแต่ชายฝั่งลงไปถึงระดับน้ำ 40 เมตร
  • แหล่งลานแร่นอกชายฝั่ง (Offshore Placer Deposit) ตั้งแต่บริเวณแนวชายหาดลงไปในทะเลถึงระดับความลึกน้ำทะเล 30 เมตร โดยพบแร่ดีบุกและแร่พลอยได้มีความอุดมสมบูรณ์สูงบริเวณใกล้ฝั่งและพบลดลงเมื่อไกลออกไปในทะเล บริเวณที่พบแหล่งแร่ดีบุกและแร่พลอย แบ่งได้เป็น 3 บริเวณ คือ บริเวณนอกชายฝั่งจังหวัดระนองและพังงา บริเวณนอกชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต และอ่าวในหมู่เกาะอาดัง-ราวี จังหวัดสตูล
 
        มีการพบแหล่งแร่ดีบุกและแร่พลอยบริเวณใกล้ชายฝั่งและนอกชายฝั่งจังหวัดระนองและพังงา ขนาดของเม็ดแร่ดีบุกมีการเรียงตามขนาดใหญ่ไปเล็กจากชายฝั่งออกไปสู่ทะเล ในบริเวณบ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ความสมบูรณ์ของแร่ดีบุกจะมีมากและกระจายลงมาทางใต้ด้วยกระแสน้ำชายฝั่ง (Long Shore Current)
 
        พื้นที่บริเวณจังหวัดระนองส่วนใหญ่มีแร่ดีบุกสะสมตัวอยู่มาก เนื่องจากในอดีตเคยมีการทำเหมืองแร่ดีบุกในบริเวณนี้  นอกจากนี้ ในการแต่งแร่ดีบุกจากการทำเหมืองในทะเล เริ่มต้นจากการแต่งแร่บนเรือก่อนแล้วจึงนำไปแต่งแร่ต่อที่โรงแต่งบนบกเพื่อ ให้เปอร์เซ็นต์ของแร่ดีบุกสูงถึง 99.9 จากนั้นจึงนำไปถลุงที่โรงถลุงแร่ดีบุก โดยการแต่งแร่ดีบุกบนเรือขุดนั้นจะแยกแร่ดีบุกและแร่พลอยได้ออกจากทราย ซึ่งแร่พลอยได้จะถูกทิ้งลงทะเลไปเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทั่วไปแล้วแร่พลอยได้และทราย (ขี้แร่) จะติดปนไปกับกับแร่ดีบุกประมาณ 30 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แร่พลอยได้เหล่านี้รวมถึงแร่โคลัมไบต์ แทนทาไลต์ และแร่ตระกูลโคลัมเบียม-แทนทาลัม ซึ่งมีราคาสูงกว่าแร่ดีบุกมาก ดังนั้น บริเวณที่ทำเหมืองแล้วในทะเลน่าจะยังคงมีความสมบูรณ์ของแร่พลอยได้อยู่อีกมาก
 
        จากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีบริเวณนอกชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต พบแหล่งแร่ดีบุกและแร่หนักมีค่า เพชรซึ่งเป็นแร่พลอยได้จากการทำเหมืองแร่ดีบุกในทะล ในบริเวณอ่าวภูเก็ตพบว่ามีแร่ดีบุกสะสมตัวในบริเวณอ่าวภูเก็ตลงมาถึงเกาะไม้ท่อน และพบแร่ดีบุกลดลงในตอนบนของอ่าวภูเก็ต และยังพบในพื้นที่บริเวณตอนบนระหว่างเกาะไม้ท่อนและเกาะราชาใหญ่ มีปริมาณแร่สำรอง 26,494.4 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 3,800 ล้านบาท นอกจากนี้ยังสำรวจพบร่องน้ำโบราณ ซึ่งน่าจะเป็นร่องตะกอนติดต่อกับแหล่งแร่ดีบุกในแปลงประทานบัตรขององค์การ เหมืองแร่ในทะเล (อมท.)

        การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์และเจาะสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีบริเวณอ่าวในหมู่เกาะอาดัง-ราวี จังหวัดสตูล พบว่าแหล่งแร่บริเวณนี้มีแหล่งลานแร่ที่มีต้นกำเนิดจากเกาะราวี มีค่าความสมบูรณ์ของแร่ดีบุกสูงสุด 0.740 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในบริเวณทางใต้ของเกาะราวี และมีแร่ทัวร์มาลีนเป็นแร่พลอยได้ที่พบมากที่สุด มีความสมบูรณ์สูงถึง 13.983 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ยังไม่สามารถประเมินปริมาณสำรองของแร่ดีบุกได้ เนื่องจากข้อมูลจากหลุมเจาะยังไม่เพียงพอ แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากหมู่เกาะอาดัง-ราวี จังหวัดสตูลถูกผนวกเข้าในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตาในปี 2517 จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการทำเหมืองได้

        สำหรับโครงการสำรวจแร่นอกชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรมกับองค์การสหประชาชาติ ในระหว่างปี 2530-2539 ในพื้นที่นอกชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของจังหวัดระยอง จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่ภาคใต้ บริเวณรอบเกาะสมุยและเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพื้นที่นอกชายฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากนั้นยังมีการสำรวจที่ดำเนินการโดยเอกชนหลายพื้นที่ เช่น บริเวณนอกชายฝั่งทะเลของอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี หาดมาบตาพุด และบริเวณรอบเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง นอกชายฝั่งอำเภอท่าชนะ จังหวัดชุมพร อำเภอขนอม และอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และบริเวณรอบเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อเนื่องไปจนถึงนอกชายฝั่งทะเลจังหวัดสงขลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นต้น ซึ่งผลการสำรวจของภาคเอกชนเหล่านี้ ไม่พบแหล่งแร่ที่คุ้มค่าต่อการลงทุนในการทำเหมือง


กรมทรัพยากรธรณี.2543.แหล่งเเร่ดีบุกในทะเลอันดามัน.วารสารเศรษฐธรีณ๊วิทยา, 2(12) : หน้า 4-5.

กรมทรัพยากรธรณี.2542.แหล่งเเร่ดีบุกในทะเลอันดามัน.วารสารเศรษฐธรีณ๊วิทยา, 1(15), หน้า 6.

กรมทรัพยากรธรณี.2542.การสำรวจและการทำเหมืองเเร่ดีบุกในทะเลไทย.วารสารเศรษฐธรีณ๊วิทยา,1(15), หน้า 3-4.

 

           ปัญหาที่อาจจะเกิดจากการทำเหมืองแร่ดีบุกในทะเลและแนวทางการบรรเทาปัญหา

           

           ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

 

         การฟุ้งกระจายของตะกอนที่อาจทำความเสียหายต่อแหล่งปะการัง โดยอาจจะใช้เครื่องควบคุมตะกอน (Diffuser) เพื่อบังคับตะกอนท้ายรางให้ตกลงสู่พื้นทะเลโดยตรง

         ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว

           สภาพภูมิทัศน์บริเวณชายฝั่งถูกบดบัง เนื่องจากการทำเหมืองในลักษณะของเรือสูบ แพดันเป็นจำนวนมาก ทรัพยากรในทะเลลึก : แร่ฟอสเฟต (Phosphorite Nodules)



            สถานการณ์และปัญหาของทรัพยากรในทะเลลึก

          ทะเลไทยเป็นทะเลตื้นบนไหล่ทวีปตอนใน (Inner Shelf) มี ความลึกสูงสุดเพียง 86 เมตร ส่วนในทะเลอันดามันมีอาณาเขตครอบคลุมไปถึงบริเวณลาดทวีป มีความลึกสูงสุดประมาณ 1,200 เมตร ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงลักษณะภูมิประเทศใต้ท้องทะเลแล้ว ในทะเลอ่าวไทยมีโอกาสที่จะพบแหล่งแร่แบบลานแร่เท่านั้น ขณะที่ในทะเลอันดามันมีโอกาสพบทั้งแหล่งแร่แบบลานแร่ และแร่ฟอสเฟตบริเวณของไหล่ทวีปและลาดตีนทวีปอีกด้วย แต่ไม่มีโอกาสพบแหล่งแร่แมงกานีสและซัลไฟด์ ซึ่งเกิดที่ระดับความลึกน้ำทะเล 3,000-5,000 เมตร

          สำหรับการสำรวจแร่ในทะเลที่ลึกกว่า 50 เมตรลงไป ได้เริ่มดำเนินการในช่วงปี 2540-2542 โดยกรมทรัพยากรธรณีร่วมกับศูนย์วิจัยชีววิทยาและประมงทะเล จังหวัดภูเก็ต ได้ทำการสำรวจและเก็บตัวอย่างหินพื้นท้องทะเลอันดามันที่ระดับน้ำลึกประมาณ 100-500 เมตร ห่างจากชายฝั่งประมาณ 40-250 กิโลเมตร 
 
          กรมทรัพยากรธรณีได้ทำการวิเคราะห์ทางเคมีปรากฏว่าเป็นแร่ฟอสเฟตในรูปโนดูลส์ ที่เป็นฟอสฟอไรต์ชนิดเฟอโรฟอสเฟต สีน้ำตาลถึงสีดำ มีปริมาณ P2O5 อยู่ 2.21-14.68 เปอร์เซ็นต์ บริเวณนี้จึงเป็นที่น่าสนใจว่าอาจจะพบแหล่งแร่ฟอสเฟตขนาดใหญ่ได้
 


 กรม ทรัพยากรธรณี. 2550. โอกาสพบแหล่งทรัพยากรแร่ในทะเลไทย. ข้อมูลธรณีวิทยาด้านแร่. แหล่งที่มา: http://www.dmr.go.th/offshore/Marine%20mineral%20deposit_in%20Thailand.htm, 22 มิถุนายน 2550.