พิมพ์

 

 

นิคมอุตสาหกรรมชายฝั่ง

 

       นิคมอุตสาหกรรม หมายถึง เขตพื้นที่ดินซึ่งจัดสรรไว้สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมเข้าไปอยู่รวมกันอย่างเป็นสัดส่วน ประกอบด้วย พื้นที่อุตสาหกรรม สิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภค และสาธารณูปการครบครัน เช่น ถนน ท่อระบายน้ำ โรงกำจัดน้ำเสียส่วนกลาง ระบบป้องกันน้ำท่วม ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ นอกจากนั้น ยังประกอบด้วยบริการอื่นๆ ที่จำเป็นอีก อาทิ ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข ธนาคาร ศูนย์การค้า ที่พักอาศัยสำหรับคนงาน สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น

       นิคมอุตสาหกรรมในประเทศที่เปิดดำเนินการแล้วมีจำนวน 39 นิคม กระจายอยู่ใน 8 จังหวัดชายฝั่งทะเล และ 6 จังหวัดทั่วประเทศ ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมที่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดำเนินการเอง จำนวน 11 นิคม และนิคมอุตสาหกรรมที่ร่วมดำเนินงานกับผู้พัฒนา จำนวน 28 นิคม

 

แผนที่ตัวอย่างนิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งที่สำคัญ

(ก = นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด, ข = นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง, ค = นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์, ง = นิคมอุตสาหกรรมบางปู, จ = นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร, ฉ = นิคมอุตสาหกรรมบริการ เพชรบุรี, ช = นิคมอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน, ซ = นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ สงขลา และ ญ = นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล)

 

นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (Map Ta Phut Industrial Estate)

ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ก่อตั้งใน พ.ศ. 2532 โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 8,558 ไร่ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 6,949 ไร่ และเขตธุรกิจอุตสาหกรรม 1,609 ไร่ ข้อมูลเพิ่มเติม

นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง (Laem Chabang Industrial Estate)

ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ก่อตั้งใน พ.ศ. 2525 โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีพื้นที่ทั้งหมด 3,556 ไร่ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 1,824 ไร่
เขตประกอบการเสรี 979 ไร่ และพื้นที่สาธารณูปโภคและอื่น ๆ 753 ไร่

นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ (Wellgrow Industrial Estate)

ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลหอมศีล อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยบริษัทเวลโกรว์ อินดัสทรีส์ จำกัด มีพื้นที่ทั้งหมด 3,228 ไร่ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 2,391 เขตที่พักอาศัย/พาณิชย์ 4 ไร่ และพื้นที่สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก 822 ไร่

นิคมอุตสาหกรรมบางปู (Bang Poo Industrial Estate) 

ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลบางปูใหม่ และตำบลแพรกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ก่อตั้งใน พ.ศ. 2520 โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีพื้นที่ทั้งหมด 5,472 ไร่ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 3,659 ไร่ เขตประกอบการเสรี 377 ไร่ เขตที่พักอาศัย/พาณิชย์ 149 ไร่ และพื้นที่สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก 1,286 ไร่

นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร (Samut Sakhon Industral Estate)

ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลบางกระเจ้า อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ก่อตั้งใน พ.ศ. 2533 โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีพื้นที่ทั้งหมด 1,456 ไร่ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 1,041 ไร่ เขตที่พักอาศัย/พาณิชย์ 28 ไร่ และพื้นที่สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก 387 ไร่

นิคมอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน (Bangsaphan Industrial Estate)

ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลแม่รำพึง ตำบลบางสะพาน และตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก่อตั้งใน พ.ศ. 2550 โดยบริษัทในเครือสหวิริยา จำกัด และบริษัทในเครือ ประจวบ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด มีพื้นที่ทั้งหมด 21,430 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่โรงงานถลุงเหล็กและโรงงานผลิตเหล็ก 16,038 ไร่ พื้นที่โรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลและบ่อเก็บน้ำ
5,392 ไร่

นิคมอุตสาหกรรมบริการ เพชรบุรี (Service & Tourism Industrial Estate)

ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ครอบคลุม ตำบลแก่งกระจาน วังจันทร์ วังไคร้ อำเภอแก่งกระจาน ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ก่อตั้งใน พ.ศ. 2552 โดยบริษัทเพชรไทยพัฒนา จำกัด มีพื้นที่ทั้งหมด
35,000 ไร่ จัดเป็นโครงการนิคมอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยวแห่งแรกของประเทศ ภายในนิคมประกอบด้วย บ้านพักหลังเกษียณ โรงแรมรีสอร์ท ศูนย์การแพทย์ สนามกอล์ฟ โรงเรียนและมหาวิทยาลัย และสนามบินขนาดเล็ก

นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล (Halal Industrial Estate)

ตั้งอยู่ในพื้นที่ของตำบลปะนาเระ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ก่อตั้งใน พ.ศ. 2551 โดยบริษัท ฟาตอนี อินดัสทรีส์ จำกัด มีพื้นที่โครงการ 933 ไร่ (พัฒนาระยะแรก 172 ไร่) เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม และเพื่อให้ผู้ประกอบการอุสาหกรรมฮาลาลได้รับการบริการเบ็ดเสร็จครบวงจรอย่างรวดเร็ว ณ จุดบริการเดียว

นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ สงขลา (Southern Region Industrial Estate Songkhla Province) 

ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก่อตั้งใน พ.ศ. 2537 โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีพื้นที่ทั้งหมด 2,247 ไร่ (พัฒนาระยะแรก 867 ไร่ ระยะที่สอง 725 ไร่ และระยะที่สาม 149 ไร่) นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ สงขลา เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของภาคใต้ ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อกระจายการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่ภูมิภาค

 

ผลกระทบของอุตสาหกรรมชายฝั่งต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

จากนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการลงทุนและเอื้อประโยชน์ให้กับภาคอุตสาหกรรม มีส่วนทำให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตขึ้น นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งถูกจัดตั้งขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่ง อย่างไรก็ดีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งอาจนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลได้ เช่น การลักลอบปล่อยน้ำเสียที่ไม่ผ่านกระบวนการบำบัดลงสู่แหล่งน้ำโดยตรง ซึ่งมีผลทำให้คุณภาพของน้ำเสื่อมโทรมลง น้ำมีสภาพที่ไม่มีความเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ดังกรณีการตายของสัตว์น้ำจำนวนมากบริเวณแม่น้ำแม่กลอง ที่ไม่เพียงเฉพาะสัตว์น้ำที่อาศัยบริเวณแหล่งที่มาของน้ำเสียเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่บริเวณปลายน้ำของแหล่งที่มาของน้ำเสียก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน นอกจากนี้การขยายพื้นที่ของโรงงาน ในบางพื้นที่อาจมีการขยายพื้นที่บุกรุกไปยังพื้นที่ป่าชายเลน ส่งผลทำให้พื้นที่ป่าชายเลนถูกทำลายลง และลดจำนวนลง

 

 

ที่มาไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์.  2548.  รวมนิคมอุตสาหกรรมทั่วไทย.[ออนไลน์].  แหล่งที่มา: http://www.thaifranchisecenter.com/industrial/detail.php?id=34 [29 กันยายน 2559]