Print

 

ทะเลไทย

 

คำจำกัดความของทะเลและทรัพยากรทางทะเล

อาณาเขตทางทะเลของไทย

สัณฐานวิทยาและสมุทรศาสตร์กายภาพของอ่าวไทยและทะเลอันดามันและช่องแคบมะละกาตอนเหนือ

อ่าวไทยตอนใน

อ่าวไทยตอนนอก หรือตอนล่าง

ภูมิอากาศและอุตุนิยมวิทยา

น้ำขึ้นน้ำลง

อุณหภูมิ ความเค็ม และความหนาแน่นของน้ำทะเล

กระแสน้ำและการไหลเวียนของน้ำ

 

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

ทะเลไทย

 

คำจำกัดความของทะเลและทรัพยากรทางทะเล

ทะเล (sea) หมายถึง มวลน้ำเค็มที่ถูกล้อมรอบด้วยแผ่นดินบางส่วนหรือทั้งหมด ทะเลเป็นบริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างน้ำเค็มในมหาสมุทรต่าง ๆ โดยขอบเขตของทะเลจะมีขนาดเล็กกว่ามหาสมุทรและใหญ่กว่าทะเลสาบ (lake) ทะเลทุกแห่งถูกล้อมรอบด้วยแผ่นดินหรือต่อเนื่องกับแผ่นดินยกเว้นทะเลซากัสโซซึ่งถูกล้อมรอบด้วยกระแสน้ำที่หมุนเป็นวงในมหาสมุทรแอตแลนติก (North Atlantic gyre) แต่ United Nations Convention on the Law of the Sea ใช้คำว่าทะเล (sea) ในความหมายของมหาสมุทร (ocean) ในขณะที่สถาบันสมุทรศาสตร์และภูมิอากาศแห่งชาติ (National Oceanographic and Atmospheric Association) ของสหรัฐอเมริกา ถือว่าในทางภูมิศาสตร์แล้วทะเลเป็นส่วนต่อเชื่อมระหว่างมหาสมุทรกับแผ่นดิน ทะเลจึงเป็นส่วนขอบของมหาสมุทรและมีด้านหนึ่งติดต่อกับแผ่นดิน (NOAA)

ทรัพยากรทางทะเล (marine resources) หมายถึง สิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของพืช สัตว์และมนุษย์ที่ได้จากทะเล  สิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรทางทะเลส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเลยกเว้นมนุษย์ นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดที่อาศัยอยู่บนบก (https://www.reference. com/science) ทรัพยากรที่จำเป็นที่สุดที่มนุษย์ต้องการจากสิ่งแวดล้อม คือ อาหาร ทะเลและมหาสมุทรเป็นแหล่งอาหารโปรตีนปริมาณสูงที่ได้จากทรัพยากรมีชีวิต (marine living resources) เช่น ปลา สัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลังและสาหร่ายทะเล สิ่งมีชีวิตที่มนุษย์ใช้เป็นอาหารเหล่านี้มีการดำรงชีวิตที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากทะเลที่เป็นที่อยู่อาศัย นอกจากนี้มนุษย์ยังเสาะแสวงหาทรัพยากรที่ไม่มีชีวิตในทะเล เช่น แร่ธาตุต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต ทรัพยากรแร่ธาตุและเชื้อเพลิงในทะเลที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์นี้ต่างมีต้นกำเนิดจากกระบวนการทางกายภาพรวมถึงกระบวนการทางชีวภาพที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตในทะเลทั้งสิ้น

 

าณาเขตทางทะเลของไทย

ประเทศไทยตั้งอยู่บริเวณที่เป็นคาบสมุทรอินโดจีนและส่วนภาคใต้ของประเทศไทยอยู่บนส่วนของคาบสมุทรมลายู ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลสองด้าน ชายฝั่งทะเลของไทยอยู่ในพื้นที่ 23 จังหวัด มีความยาวชายฝั่งกว่า 3,151 กิโลเมตร ประกอบด้วยชายฝั่งด้านตะวันออกทางฝั่งอ่าวไทยซึ่งเป็นส่วนในสุดของมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนชายฝั่งด้านตะวันตกอยู่ติดกับทะเลอันดามันซึ่งรวมถึงส่วนเหนือของช่องแคบมะละกาของมหาสมุทรอินเดีย อาณาเขตทางทะเล (maritime zone) ของไทยที่มีพื้นที่กว่า 350,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าสองในสามของอาณาเขตบนบกที่มีพื้นที่ประมาณ 513,000 ตารางกิโลเมตร อาณาเขตทะเลไทยแบ่งออกเป็น 6 เขต ประกอบด้วย น่านน้ำภายใน ทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ไหล่ทวีปและทะเลหลวง

 

สัณฐานวิทยาและสมุทรศาสตร์กายภาพของอ่าวไทย ทะเลอันดามันและช่องแคบมะละกาตอนเหนือ

ทะเลไทยแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ อ่าวไทย (Gulf of Thailand) และทะเลอันดามัน (Andaman Sea) อ่าวไทยเป็นน่านน้ำภายในที่อยู่ส่วนในสุดของทะเลจีนใต้และตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างเส้นรุ้ง (ละติจูด) ที่ 6° ถึง 13.5° เหนือ เส้นแวง (ลองจิจูด) ที่ 99° ถึง 105° ตะวันออก มีลักษณะเป็นอ่าวกึ่งปิดล้อมรอบด้วยชายฝั่งของคาบสมุทรมลายูทางตะวันตกและแผ่นดินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทางทิศเหนือและทิศตะวันออก ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอ่าวไทยเป็นช่องเปิดระหว่างปลายแหลมญวน ประเทศเวียดนามและเมืองโกตาบารูของประเทศมาเลเซีย ติดต่อกับทะเลจีนใต้ มีความกว้างประมาณ 380 กิโลเมตร ความยาวประมาณ 810 กิโลเมตร และส่วนที่กว้างที่สุด มีความกว้าง 540 กิโลเมตร อยู่ลึกเข้ามาในอ่าว (Robinson 1974) พื้นท้องทะเลอ่าวไทยมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ความลึกเฉลี่ยประมาณ 44 เมตร บริเวณส่วนกลางของอ่าวที่ลึกที่สุดมีความลึกประมาณ 86 เมตร (รูปที่ 1) ตอนกลางอ่าวมีความลึกประมาณ 60 เมตร และมีส่วนที่แผ่เป็นร่องน้ำแคบขึ้นไปทางเหนือเป็นลักษณะของ drowned river valley ที่เคยโผล่พ้นระดับน้ำทะเลในยุคน้ำแข็งและสามารถเห็นร่องรอยแม่น้ำโบราณต่อกับแม่น้ำบนแผ่นดินปัจจุบัน

อ่าวไทยติดต่อกับทะเลจีนใต้โดยมีสันเขาใต้น้ำ 2 แนว ที่วางตัวตามแนวเหนือ-ใต้เป็นตัวกั้น สันเขาใต้น้ำฝั่งตะวันตกของอ่าววางตัวตามแนวยาวจากโกตาบารูทางใต้ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 160 กิโลเมตร มีความลึกประมาณ 50 เมตร  ส่วนสันเขาทางฝั่งตะวันออกมีความลึกประมาณ 25 เมตร เป็นแนวจากแหลมคาเมาไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร ระหว่างสันเขาทั้งสองแนวเป็นร่องน้ำลึกมีความลึก (sill depth) 67 เมตร สันเขาใต้น้ำนี้เป็นตัวควบคุมการไหลของน้ำระดับล่างในอ่าวไทย  ลักษณะชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือจะตื้นและเรียบกว่าชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ (รูปที่ 2)

อ่าวไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 270,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นปริมาตรของอ่าว 12,510 ลูกบาศก์กิโลเมตร (Robinson 1974) ลักษณะภูมิสัณฐานของพื้นท้องทะเลอ่าวไทยที่เป็นแอ่งกระทะนั้นเกิดจากการสะสมตัวของตะกอนในแนวเหนือใต้ ทำให้เกิดเป็นแอ่งขนาดใหญ่ คือ แอ่งด้านตะวันตกและแอ่งด้านตะวันออก (รูปที่ 2) หินฐานที่รองรับแอ่งในอ่าวไทยเป็นหินที่เกิดก่อนสมัยอีโอซีน สันนิษฐานว่าประกอบด้วยหินแปร หินอัคนี และหินตะกอน (สุคนธ์เมธ จิตรมหันตกุล 2555)

 

ก) ข)

รูปที่ 1 พื้นทะเลอ่าวไทย

ก) ระดับความลึกเป็นเมตร (Sojisuporn 2010)

ข) ความชันท้องน้ำ (Robinson, 1974)

รูปที่ 2 ธรณีวิทยาโครงสร้างของอ่าวไทย

(ที่มา : สุคนธ์เมธ จิตรมหันตกุล 2555)

ในทางสมุทรศาสตร์อ่าวไทยมีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ อ่าวไทย
ตอนในหรืออ่าวไทยตอนบน (inner gulf หรือ upper gulf) และอ่าวไทยตอนนอกหรืออ่าวไทยตอนล่าง (outer gulf)

 

1) อ่าวไทยตอนใน

อ่าวไทยตอนใน (Inner Gulf of Thailand) เป็นส่วนบนของอ่าวมีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมคล้ายตัวอักษร “ก” จึงถูกเรียกกันทั่วไปว่า อ่าว ก หรืออ่าวรูปตัว ก  มีอาณาบริเวณตามพระราชบัญญัติกำหนดพื้นที่เขตจังหวัดในอ่าวไทยตอนใน พ.ศ. 2502 (https://th.wikipedia.org/wiki/อ่าวไทย) (รูปที่ 3) ตั้งแต่ชายฝั่งของตำบลห้วยทรายเหนือ อำเภอชะอำ ในจังหวัดเพชรบุรีที่ละติจูด 12 องศา-35 ลิปดา 45 พิลิปดาเหนือ ลองจิจูด 49 องศา-47 ลิปดา-30 พิลิปดาตะวันออก ขึ้นเหนือไปตามพื้นที่ชายฝั่งของจังหวัดสมุทรสงคราม ไปทางตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ชายฝั่งของจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการและฉะเชิงเทราและลงไปทางใต้ตามแนวชายฝั่งจังหวัดชลบุรี จนถึงแหลมช่องแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ที่ละติจูด 12 องศา-35 ลิปดา-45 พิลิปดาเหนือ ลองจิจูด 100 องศา-27 ลิปดา-30 พิลิปดาตะวันออก  ในปัจจุบันนิยมเรียกพื้นที่อ่าวไทยตอนในว่าอ่าวไทยตอนบน (Upper Gulf of Thailand) ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ทางทิศใต้ลงไปถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 

รูปที่ 3 อาณาเขตของอ่าวไทยตอนใน

(ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/อ่าวไทย)



อ่าวไทยตอนในมีขนาดประมาณ 100 x 100 ตารางกิโลเมตร อ่าวไทยตอนในมีความลึกสูงสุดประมาณ 40 เมตร ทางฝั่งขวาของอ่าว ส่วนฝั่งซ้ายจะตื้นเขินกว่า ความลึกเฉลี่ยในอ่าวไทยตอนในประมาณ 15 เมตร  (ปราโมทย์ โศจิศุภร 2546 อ้างถึง Nedeco 1965 และ วิโรจน์ พินโยภรณ์  2529) และความลาดเอียงของพื้นอ่าวประมาณ 0.2 เมตรต่อ 1 กิโลเมตร มีพื้นที่ผิวทั้งหมดประมาณ 10,360 ตารางกิโลเมตร อ่าวไทยตอนในเป็นเอสทูรีขนาดใหญ่ได้รับน้ำจืดจากแม่น้ำ 4 สายคือ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง มวลน้ำในอ่าวไทยตอนในมีความเค็มผันแปรอยู่ในช่วง 30.5-32.5 psu (https://en.wikipedia.org/ wiki/ Gulf_ of_ Thailand) และมีความเข้มข้นของสารอาหารละลายน้ำสูงโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนช่วยส่งเสริมผลผลิตเบื้องต้นและผลผลิตทางการประมงในบริเวณนี้ ชายฝั่งด้านบนของอ่าวไทยตอนในเป็นหาดเลนในเขตน้ำขึ้น-น้ำลงที่ปกคลุมด้วยป่าชายเลนที่มีความกว้างตั้งแต่ 1 ถึง 10 กิโลเมตร บริเวณชายฝั่งของอ่าวไทยตอนในจึงเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารและที่หลบภัยของสัตว์ทะเลที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจรวมถึงนกที่หากินตามชายฝั่งทั้งนกที่อยู่ประจำถิ่นและนกอพยพ (Wattayakorn, 2006 อ้างถึง Erftemeijer and Jugmongkol, 1999)

ลักษณะของตะกอนที่ผิวพื้นทะเลของอ่าวไทยตอนในประมาณร้อยละ 60 ประกอบด้วยตะกอนโคลนทะเลปนด้วยเศษเปลือกหอย ดินตะกอนมีสีเทาอมเขียว เขียวเทา เทา ดำ น้ำตาลและน้ำตาลเข้ม รองลงมาเป็นตะกอนโคลนปนทรายร้อยละ 20  สีเทาอมเขียว เขียวเทา ทรายที่เป็นองค์ประกอบเป็นทรายละเอียด มีเศษเปลือกหอยปนร้อยละ 0-30 พื้นตะกอนที่เป็นทรายปนโคลนทะเลและตะกอนทรายพบสะสมจากชายฝั่งและบริเวณรอบเกาะต่าง ๆ ลักษณะธรณีวิทยาชั้นตะกอนใต้พื้นท้องทะเลแบ่งออกเป็น 2 ชุด คือ ชั้นตะกอนชุดล่างซึ่งสะสมตัวในสมัยไพลสโตซีนมีร่องรอยถูกกัดเซาะเป็นร่องน้ำขนาดใหญ่ และชั้นตะกอนชุดบนมีความหนาตั้งแต่ 0-19 เมตร มีความหนามากบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นชั้นตะกอนที่สะสมตัวในสมัยโฮโลซีนเนื่องจากการรุกล้ำของน้ำทะเลเมื่อประมาณ 10,000 ปีที่ผ่านมา ดินตะกอนในอ่าวไทยตอนในมีการสะสมของโลหะหนักในความเข้มข้นเรียงจากมากไปหาน้อย คือ เหล็ก แมงกานีส ไทเทเนียม สังกะสี โครเมียม วานาเดียม นิเกิล ทองแดง ตะกั่ว โคบอลท์ อาร์เซนิก และ แคดเมียม ตามลาดับ ดินตะกอนบริเวณทางเหนือของอ่าวไทยตอนในบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน และบริเวณใกล้เคียงมีปริมาณโลหะหนักทุกชนิดยกเว้นแคดเมียมในความเข้มข้นสูงกว่าบริเวณฝั่งตะวันตกและตะวันออก (ส่วนธรณีวิทยาทางทะเล 2555)

 

2) อ่าวไทยตอนนอกหรืออ่าวไทยตอนล่าง

อาณาเขตของอ่าวไทยตอนนอกหรืออ่าวไทยตอนล่างเป็นส่วนต่อจากอ่าวไทยตอนในลงไปทางใต้ จนถึงแนวเส้นต่อเชื่อมระหว่างแหลมคาเมา ของประเทศเวียดนาม ที่ละติจูด 8°36' เหนือ กับส่วนเหนือของฝั่งตะวันออกของปากแม่น้ำตรังกานู เมืองโกตาบารู ในประเทศมาเลเซีย ที่ละติจูด 6°14’ เหนือ ลองจิจูด 102°15’ ตะวันออก (International Hydrographic Organization, 1953)  แนวต่อนี้มีความยาวประมาณ 370 กิโลเมตร และความลึกไม่มาก ส่วนที่มีความลึกประมาณ 50 เมตร มีความยาวประมาณ 55 กิโลเมตรเท่านั้น สำหรับขนาดอ่าวไทยตอนนอกนั้นมีส่วนที่กว้างที่สุดประมาณ 555 กิโลเมตร ยาวประมาณ 838 กิโลเมตร มีลักษณะคล้ายรูปกระทะคือบริเวณที่มีความลึกที่สุดอยู่กลางอ่าวเป็นร่องลึก (depression) ซึ่งมีความลึกไม่เกิน 85 เมตร แล้วค่อย ๆ ตื้นขึ้นตามแนวลาดชันของขอบฝั่งทะเล ตะกอนที่พื้นท้องทะเลกลางอ่าวไทยเป็นโคลนปนทรายหรือโคลน แต่พื้นทะเลของอ่าวไทยฝั่งตะวันตกจะไม่เป็นเนื้อเดียวกันโดยพบตะกอนพื้นทะเลที่เป็นโคลน โคลนปนทราย โคลนปนทรายขี้เป็ด ทรายปนโคลน และทราย กระจายเป็นแห่ง ๆ ไป ดังรูปที่ 4 (ปราโมทย์ โศจิศุภร 2546 อ้างถึง กองสมุทรศาสตร์ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ พ.ศ. 2538) อ่าวไทยตอนล่างเฉพาะที่เป็นอาณาเขตของประเทศไทย แบ่งได้เป็น 3 เขต คือ

อ่าวไทยฝั่งตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส พื้นท้องทะเลในบริเวณค่อนข้างตื้น ตะกอนพื้นทะเลจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช มีลักษณะเป็นตะกอนโคลน แต่ในพื้นที่ชายฝั่งของจังหวัดสงขลาถึงจังหวัดนราธิวาสเป็นตะกอนโคลนปนทราย และบริเวณอื่นเป็นทรายปนโคลนและเปลือกหอย

อ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้แก่ พื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดชลบุรีถึงจังหวัดตราด ลักษณะของพื้นท้องทะเลโดยทั่วไปเป็นโคลนปนทราย ส่วนบริเวณห่างฝั่งและปากแม่น้ำเป็นโคลน ลักษณะชั้นตะกอนที่ผิวหน้าเป็นตะกอนทรายละเอียดผสมโคลนสีน้ำตาลเช่นเดียวกับอ่าวไทยตอนบน ส่วนชั้นตะกอนใต้ลงไปเป็นโคลนปนเปลือกหอยละเอียด

บริเวณกลางอ่าวไทย ได้แก่ พื้นที่อ่าวไทยนอกชายฝั่งทะเลต่อจากเขตอ่าวไทยตอนบน เขตอ่าวไทยตะวันตก เขตอ่าวไทยตะวันออก จนถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย ลักษณะพื้นที่บริเวณนี้เป็นแอ่ง ตะกอนพื้นท้องทะเลร้อยละ 50 เป็นโคลน และบางแห่งเป็นเลน (silt) และโคลนปนทราย

 

รูปที่ 4 ลักษณะตะกอนพื้นทะเลอ่าวไทย

(ที่มา : ปราโมทย์ โศจิศุภร 2546 อ้างถึง กองสมุทรศาสตร์ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ พ.ศ. 2538)

 

ทะเลอันดามันเป็นส่วนหนึ่งของไหล่ทวีปของมหาสมุทรอินเดีย (รูปที่ 5) เป็นชายฝั่งทะเลจมตัวที่มีลักษณะเป็น marginal sea คือล้อมรอบด้วยแผ่นดิน เกาะ หรือคาบสมุทร มีส่วนเปิดที่ติดต่อกับทะเลเปิดที่ผิวน้ำและอาจมีสันเขาใต้ทะเล ทะเลอันดามันมีลักษณะเป็นแอ่งกึ่งปิด ตั้งอยู่ทางตะวันออกของอ่าวเบงกอล ที่ละติจูด 6° ถึง 14° เหนือ ลองจิจูด 93° ถึง 99° ตะวันออก  อาณาเขตด้านเหนือหรือด้านบนของทะเลอันดามันติดต่อกับแผ่นดินส่วนดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี ทิศตะวันออกเป็นคาบสมุทรมาเลย์ ทางตะวันตกของทะเลอันดามันเป็นที่ตั้งของหมู่เกาะนิโคบาร์และสุมาตราซึ่งเป็นแนวกั้นทะเลอันดามันกับอ่าวเบงกอล ส่วนด้านใต้เป็นส่วนปลายของเกาะสุมาตราและช่องแคบมะละกา ทะเลอันดามันมีความยาวในแนวเหนือ-ใต้ประมาณ 1,200 กิโลเมตร ส่วนกว้างที่สุดตามแนวตะวันออก-ตะวันตกมีระยะทางประมาณ 650 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 797,700 ตารางกิโลเมตร มีความลึกเฉลี่ย 870 เมตร และส่วนที่ลึกที่สุดมีความลึกถึง 3,777 เมตร ฝั่งตะวันออกของทะเลอันดามันเป็นส่วนของไหล่ทวีปของคาบสมุทรมาเลย์ที่มีความลึกของบริเวณ inner shelf ต่ำกว่า 100 เมตร ความกว้างของไหล่ทวีป (continental shelf) ลดลงในแนวเหนือ-ใต้ โดยส่วนที่กว้างที่สุดบริเวณคาบสมุทร Mergui ในประเทศเมียนมาร์มีความกว้าง 250 กิโลเมตร แต่บริเวณนอกฝั่งเกาะภูเก็ตมีไหล่ทวีปกว้างเพียง 35 กิโลเมตร บริเวณลาดทวีป (continental slope) มีความลึกของ shelf break กว้างขึ้นจากเหนือลงใต้และความลึกที่ลาดทวีปสิ้นสุดลงที่ 2,435 เมตร ตรงบริเวณระหว่าง Sewell rise และ Mataban cayon ส่วนที่ลึกที่สุดของทะเลอันดามันที่เรียกว่า Central Andaman Trough มีความลึก 3,075 เมตร ทะเลอันดามันทางทิศตะวันตกมีแนวสันเขาที่ยกตัวขึ้น เรียก Sewell rise เป็นแนวหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ พื้นที่ของทะเลอันดามันส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกซุนดา ในขณะที่หมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์อยู่บนแผ่นเปลือกพม่า (Brown 2007)

 

รูปที่ 5 ทะเลอันดามัน ก) ขอบเขตของทะเลอันดามัน 
คือ Central Andaman Trough ซึ่งน้ำทะเลลึกกว่าบริเวณอื่นของทะเลอันดามัน

(ที่มา : Brown 2007)

ความลึกของพื้นท้องทะเลในทะเลอันดามันของไทยมีความแตกต่างกันตามพื้นที่ พื้นทะเลบริเวณทะเลชายฝั่งด้านตะวันตกของจังหวัดระนอง พังงาและภูเก็ต มีความลาดชันสูง ความลึกน้ำเฉลี่ยประมาณ 1,000 เมตร โดยเฉพาะบริเวณแอ่งอันดามันซึ่งเป็นบริเวณที่มีความลึกมากที่สุด ประมาณ 3,000 เมตร ลักษณะดินตะกอนพื้นทะเลโดยทั่วไปเป็นทรายและทรายปนโคลน ในขณะที่พื้นทะเลบริเวณชายฝั่งตอนใต้ของพังงาจนถึงทะเลของจังหวัดตรังมีความลาดชันน้อย ส่วนของไหล่ทวีปมีความลึกไม่เกิน 300 เมตร (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2556) ลักษณะพื้นทะเลเป็นเลนโคลนและเลนปนทราย ส่วนบริเวณแอ่งที่ราบมะริดและแอ่งสุมาตรามีความลึกเฉลี่ยประมาณ 1,000 และ 1,500 เมตร ตามลำดับ

 

ภูมิอากาศและอุตุนิยมวิทยา

อ่าวไทยและทะเลอันดามันอยู่ในเขตมรสุมมีสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน 2 ฤดู  ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเริ่มต้นประมาณเดือนพฤษภาคมและสิ้นสุดในเดือนกันยายนหรือตุลาคม ลมที่พัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้หรือตะวันตกพร้อมร่องความกดอากาศต่ำจากมหาสมุทรอินเดียทำให้เกิดฝนตกในประเทศไทยบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยฝั่งตะวันออกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จากนั้นเป็นระยะที่ฝนทิ้งช่วงไปพักหนึ่งเนื่องจากร่องความกดอากาศต่ำเลื่อนขึ้นไปทางตอนใต้ของประเทศจีน ร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนลงมายังประเทศไทยอีกช่วงในระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม จึงทำให้ฝนตกชุกอีกครั้งหนึ่ง  น้ำฝนส่วนหนึ่งจะกลายเป็นน้ำท่าซึ่งไหลลงสู่ทะเลต่อไป ส่วนฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายนและสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม เป็นช่วงที่ลมพัดมาจากทิศเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ หรือตะวันออกพร้อมหย่อมความกดอากาศสูงซึ่งเป็นอากาศแห้งมาจากไซบีเรีย ฝนจะตกน้อยที่สุดในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และไม่ค่อยจะมีน้ำท่าไหลลงสู่อ่าวไทย แต่บริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันตกตั้งแต่ชายฝั่งจังหวัดชุมพรลงไปถึงจังหวัดนราธิวาสยังมีฝนตกจนถึงเดือนธันวาคมเนื่องจากลมมรสุมที่พัดผ่านอ่าวไทยหอบความชื้นจากทะเลมาด้วย  ช่วงเวลาระหว่างฤดูมรสุมทั้งสองเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูซึ่งมีลักษณะอากาศที่แตกต่างออกไป ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนเป็นช่วงที่ประเทศไทยอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดมีลมที่พัดมาจากทิศใต้หรือตะวันออกเฉียงใต้ (เรียกว่าลมตะเภาหรือลมว่าว)  บางครั้งอาจมีการปะทะกันระหว่างมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมาจากประเทศจีนกับมวลอากาศร้อนที่ปกคลุมอยู่เหนือประเทศไทย ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง พายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นในฤดูนี้มักเรียกว่าพายุฤดูร้อน ช่วงเปลี่ยนฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เป็นตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนตุลาคมสภาพอากาศคล้ายกับฤดูฝนมีฝนหลงเหลืออยู่แต่อากาศเริ่มเย็นลงและลมเริ่มเปลี่ยนทิศทาง นอกจากฝนจากมรสุมแล้วทะเลไทยยังได้รับฝนจากพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นในมหาแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยทะเลอ่าวไทยอยู่ในแนวพายุหมุนเขตร้อนในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม ส่วนฝั่งทะเลอันดามันจะอยู่ในแนวเคลื่อนตัวของพายุไซโคลนในเดือนพฤษภาคม (ปราโมทย์ โศจิศุภร 2546)

อุทกวิทยา

อ่าวไทยและทะเลอันดามันได้รับน้ำจืดจากน้ำท่า (river runoff) หรือน้ำที่มาจากแม่น้ำซึ่งเป็นมวลน้ำที่มารวมกันจากฝนที่ตกลงมาในลำน้ำ น้ำผิวดิน น้ำใต้ผิวดินและน้ำใต้ดิน น้ำท่ารวมทั้งฝนที่ตกในทะเลและการระเหยที่ผิวหน้าน้ำทะเลทำให้ความเค็มของน้ำทะเลเจือจางลงและมีผลให้ความหนาแน่นของน้ำเปลี่ยนแปลง  ปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงอ่าวไทยตอนในมีค่าโดยประมาณอยู่ระหว่าง 129.5 ถึง 250.0 ลูกบาศก์เมตร ขึ้นอยู่กับค่าอัตราส่วน rainfall : runoff ratio ที่ใช้คำนวณ (ปราโมทย์ โศจิศุภร 2546) แหล่งของน้ำท่าที่สำคัญที่ไหลลงสู่อ่าวไทย คือ แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสายอื่น ๆ ทางด้านเหนือของอ่าวไทยตอนใน แม่น้ำสายสั้น ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ของไทยรวมถึงแม่น้ำโขงในช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนในบริเวณทะเลอันดามันนั้นได้รับน้ำท่าจากแม่น้ำอิระวดีทางตอนเหนือและแม่น้ำสายต่าง ๆ ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกของไทย เช่น แม่น้ำกระบุรี แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำตรัง หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 Wattayakorn และ Jaiboon (2014) ได้รายงานว่า เวลาพำนักของมวลน้ำ (water residence time) ในอ่าวไทยตอนในมีค่า 28 วัน และ 80 วัน ในเดือนตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดน้ำท่วมในภาคกลาง และเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งเป็นช่วงหลังเหตุการณ์น้ำท่วม ตามลำดับ โดยที่มาของมวลน้ำดังกล่าวมาจากแหล่งน้ำผิวดิน (river discharge) มากกว่าน้ำฝนและน้ำใต้ดิน

 

น้ำขึ้นน้ำลง

น้ำขึ้นน้ำลงในอ่าวไทยเป็นแบบน้ำเดี่ยว หรือ diurnal tide (มียอดน้ำขึ้นสูงสุดและยอดน้ำลงต่ำสุดวันละครั้ง) หรือน้ำผสม (mixed tide) ที่มีน้ำเดี่ยวเด่น เฉพาะชายฝั่งจังหวัดพัทลุง สงขลา และปัตตานีที่มีลักษณะน้ำผสมที่มีน้ำคู่เด่น คือ มียอดน้ำขึ้นสูงสุดและยอดน้ำลงต่ำสุดวันละ 2 ครั้ง แต่ยอดน้ำขึ้นหรือลงทั้ง 2 ครั้งมีระดับไม่เท่ากัน ดังรูปที่ 6 ค่าระดับน้ำทะเลปานกลางจะเพิ่มขึ้นจากปากอ่าวไทยจนถึงก้นอ่าว โดยความแตกต่างของระดับน้ำทะเลปานกลางจากปากอ่าวถึงก้นอ่าวประมาณ 15 เซนติเมตร น้ำขึ้นน้ำลงในทะเลอันดามันเป็นแบบน้ำคู่ (semi-diurnal tide) น้ำขึ้นลงวันละ 2 ครั้ง  (Rizal et al., 2012) พิสัยของระดับน้ำในช่วงน้ำเกิดในทะเลอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์มีขนาดเล็ก คือ มีความแตกต่างกันประมาณ 1-2 เมตร แต่ในบริเวณใกล้ฝั่งมีค่าสูงขึ้น คือ บริเวณชายฝั่งทะเลของไทยมีพิสัยประมาณ 3 เมตร และบริเวณคาบสมุทร Mergui ในประเทศเมียนมาร์นั้นความแตกต่างของระดับน้ำในช่วงน้ำเกิดสูงกว่า 5 เมตร

 

รูปที่ 6 ประเภทของน้ำขึ้นน้ำลงในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

(ที่มา : http://rukshanmaliq.blogspot.com)

 

 

อุณหภูมิ ความเค็ม และความหนาแน่นของน้ำทะเล

อุณหภูมิและความเค็มของน้ำทะเลรวมทั้งความลึกของน้ำทะเลเป็นตัวกำหนดความหนาแน่นของน้ำซึ่งมีอิทธิพลต่อการหมุนเวียนของน้ำ ทั้งยังใช้ในการประเมินการผสมของน้ำในแนวดิ่งที่เกิดจากแรงลมและการแบ่งชั้นของน้ำเนื่องจากความหนาแน่นที่แตกต่างกัน การแพร่กระจายของอุณหภูมิ ความเค็ม ความหนาแน่น รวมถึงออกซิเจนละลายในน้ำในอ่าวไทยมีความแตกต่างกันตามฤดูกาล ในบริเวณอ่าวไทยตอนล่างอุณหภูมิน้ำในฤดูร้อนมีค่าสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส การแยกชั้นของมวลน้ำที่พบจะเปลี่ยนแปลงตามความเร็วของลมโดยปกติจะพบชั้น thermocline ที่ความลึกประมาณ 25-50 เมตร (Robinson 1974) โดยปกติมวลน้ำในบริเวณอ่าวไทยตอนในและมวลน้ำชั้นบนในบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างจะมีความเค็มต่ำ คือ ต่ำกว่า 33 psu เพราะอิทธิพลจากน้ำท่ายกเว้นบริเวณที่มีน้ำผุด (upwelling) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดมวลน้ำชั้นบนไหลออกจากอ่าวไทย ทำให้มวลน้ำชั้นล่างผุดขึ้นมาบริเวณด้านในสุดของอ่าวไทยตอนล่างทำให้ความเค็มของน้ำชั้นบนบริเวณนี้มีค่าสูงกว่า 33 psu (รูปที่ 7 และรูปที่ 8)

 

ก) ข)

รูปที่ 7 ก) อุณหภูมิและ ข) ความเค็มของน้ำทะเลที่ผิวหน้าน้ำในอ่าวไทย

(ที่มา : Sojisuporn 2010)

รูปที่ 8 ความหนาแน่นของน้ำทะเลที่ผิวหน้าน้ำในอ่าวไทย

(ที่มา : Sojisuporn 2010)

 

  

กระแสน้ำและการไหลเวียนของน้ำ

กระแสน้ำในอ่าวไทยตอนในเป็นกระแสน้ำที่ไม่ค่อยแรงและไม่สม่ำเสมอ อยู่ภายใต้อิทธิพลของกระแสน้ำขึ้น-น้ำลง ในระหว่างช่วงน้ำขึ้นกระแสน้ำไหลขึ้นไปทางทิศเหนือและกลับทิศกันในขณะน้ำลง กำลังแรงของกระแสน้ำผันแปรตามคาบเวลาน้ำขึ้น-น้ำลง การหมุนเวียนของน้ำในบริเวณส่วนบนของอ่าวถูกควบคุมโดยอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลงและกระแสลม กระแสน้ำในอ่าวไทยทั้งอ่าวอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม ในฤดูที่มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกระแสน้ำที่ผิวในอ่าวไทยเคลื่อนที่เป็นวงรอบอ่าวตามเข็มนาฬิกา (รูปที่ 3.9ก)  ส่วนในฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กระแสน้ำในอ่าวเคลื่อนเป็นวงรอบอ่าวทวนเข็มนาฬิกา (รูปที่ 3.9ข) อิทธิพลของลมมรสุมทำให้มวลน้ำทะเลในอ่าวไทยตอนในไหลเวียนอยู่เฉพาะในอ่าวตอนในไม่มีการถ่ายเทออกสู่ทะเลอ่าวไทยตอนล่าง ยกเว้นการแลกเปลี่ยนของมวลน้ำระดับลึกที่บริเวณปากอ่าวตอนในที่ติดต่อกับอ่าวไทยตอนล่าง

 

รูปที่ 3.9 การไหลเวียนของกระแสน้ำในอ่าวไทยตอนใน

 โดย ก) ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม   ข) ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม

(ที่มา : Buranapratheprat 2002)

 

ในบริเวณอ่าวไทยตอนล่างการไหลเวียนของกระแสน้ำมีทิศทางเช่นเดียวกับอ่าวไทยตอนใน คือ ไหลตามเข็มนาฬิกาในช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและไหลทวนเข็มนาฬิกาในช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (รูปที่ 10) แต่กระแสน้ำในระดับลึก (10-40 เมตร) จะไหลในทิศตรงข้ามกับกระแสน้ำที่ผิว การผสมของน้ำท่าและน้ำทะเลจากแรงลมและกระแสน้ำทำให้เกิดชั้น Ekman layer หนา 30-50 เมตร ลอยอยู่เหนือน้ำทะเลที่มีความสูง กระแสน้ำในบริเวณอ่าวไทยตอนล่างอาจได้รับอิทธิพลของน้ำจากทะเลจีนใต้มากกว่าบริเวณอ่าวไทย ในช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกระแสน้ำชั้นบนไหลออกจากอ่าวไทยทำให้ระดับน้ำทะเลในอ่าวลดต่ำลง มวลน้ำชั้นล่างที่เค็มกว่า 33 psu และอุณหภูมิต่ำจะผุดขึ้นมาแทนที่ในบริเวณชายฝั่งตะวันตกของอ่าวไทยและบริเวณในสุดของอ่าวไทยตอนล่าง มวลน้ำชั้นล่างนี้ไหลเข้ามาจากทะเลจีนใต้ทางปากอ่าวไทยฝั่งตะวันออกและไหลวนออกทะเลจีนใต้ทางฝั่งตะวันตกของปากอ่าว ช่วงเปลี่ยนมรสุมในเดือนตุลาคมมีความเร็วลมลดลงจึงทำให้การเกิดน้ำผุดลดน้อยลงด้วย ในระหว่างฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมวลน้ำในอ่าวไทยได้รับอิทธิพลของน้ำจากทะเลจีนใต้ที่ไหลเข้าสู่อ่าวไทยและน้ำท่าจากแม่น้ำโขงที่ไหลเข้าสู่อ่าวไทยตามทิศทางของลมสมรสุมทำให้ระดับน้ำในอ่าวสูงขึ้นทำให้การเกิดน้ำผุดลดลงและเกิดน้ำทะเลหนุนเข้าไปยังบริเวณก้นอ่าวไทยตอนใน ส่วนช่วงเปลี่ยนมรสุมในเดือนมีนาคมถึงเมษายนนั้นการไหลเวียนของน้ำในอ่าวไทยมีลักษณะคล้ายกับในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ปราโมทย์ โศจิศุภร, 2546)

 

ก) ข)
ค) ง)

 รูปที่ 10 การผันแปรตามฤดูกาลของของกระแสน้ำเฉลี่ย (geostrophic current) ที่ผิวหน้าทะเลในอ่าวไทยในแต่ละช่วงเดือน

ก) เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ข) เดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน   ค) เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน และ ง)เดือนตุลาคม

(ที่มา : Sojisuporn 2010)

 

กระแสน้ำในทะเลอันดามันในช่วงมรสุมมีความแรงต่ำกว่าในช่วงเปลี่ยนมรสุม  ในช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกระแสน้ำในทะเลอันดามันมีทิศจากใต้ไปทางเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ เนื่องจากมี North equatorial Current ที่มีความเร็ว 0.3 เมตร/วินาที ไหลจากช่องแคบมะละกาผ่านทะเลอันดามันไปยังศรีลังกา  ส่วนในช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนกระแสน้ำ norther Indian Ocean (ความเร็ว 0.7 เมตร/วินาที) ไหลจากอ่าวเบงกอลเข้าสู่ทะเลอันดามัน ช่วงเปลี่ยนมรสุมทั้งสองช่วงมีกระแสน้ำ Indian Equatorial current ที่มีความเร็ว 1.0-1.3 เมตร/วินาที  ไหลจากทิศตะวันออกเข้าสู่ทะเลอันดามัน (Brown 2007 อ้างถึง Wyrtki 1973 และ Tomczak & Godfrey 1994) เช่นเดียวกับการศึกษาของ Rizal และคณะ (2012) ที่ใช้แบบจำลองที่รวมถึงอิทธิพลของกระแสน้ำขึ้น-น้ำลง ลม และการแลกเปลี่ยนความร้อน เพื่อศึกษาการกระแสน้ำที่ผิวในทะเลอันดามันและได้ผลสอดคล้องกับการศึกษาในอดีต (รูปที่ 11)

ก) ข)

รูปที่ 11 การไหลเวียนของกระแสน้ำ (surface current) ในทะเลอันดามัน ที่เกิดจากกระแสน้ำขึ้น - น้ำลง ลมและการถ่ายเทความร้อน

ก) มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ข) มรสุมตะวันตกเฉียงใต้

(ที่มา : Rizal et. al., 2012)

 

 

 

ที่มา:

ปราโมทย์  โศจิศุภร, ศุภิชัย ตั้งใจตรง และสมมาตร เนียมนิล.2546. Eye on the Ocean หน่วยการเรียนรู้ที่ 1: ฟิสิกส์ในทะเล. หน้า 119-120. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

ส่วนธรณีวิทยาทางทะเล 2555 ธรณีวิทยากายภาพพื้นทะเลอ่าวไทยตอนบน รายงานวิชาการ เลขที่ สทธ. 9/2555 ส่วนธรณีวิทยาทางทะเล สำนักเทคโนโลยีธรณี www.geothai.net/gulf-of-thailand  [2016, Oct 8]

สุคนธ์เมธ จิตรมหันตกุล 2555 ธรณีวิทยาอ่าวไทย บทความ http://www.geothai.net/gulf-of-thailand

Brown, B. 2007. Coral reefs of the Andaman Sea: An integrated perspective. In: Gibson, R.N., Atkinson, R.J.A. and Gordon, J.D.M. (eds.) Oceanography and Marine Biology: An Annual Review. Taylor & Francis. 45: 173-197.

Rizal, S. et al., 2012. General circulation in the Malacca Strait and Andaman Sea: A numerical model study. American Journal of Environmental Science. 8(5):479-488.

Robinson, M.K., 1974. The physical oceanography of the Gulf of Thailand. NAGA Report.

Sojisuporn, P., Morimoto, A. and Yanagi, T. 2010. Seasonal variation of sea surface current in the Gulf of Thailand. Coastal Marine Science 34(1): 91-102.

Wattayakorn, G. 2006. Environmental Issues in the Gulf of Thailand. In: Wolanski, E. (ed.) The Environment in Asia Pacific Harbours. Springer. The Netherlands.  pp: 249-259.

Wattayakorn, G. and Jaiboon, P.  2014.  An assessment of biogeochemical cycles of nutrients in the Inner Gulf of Thailand. Eur. Chem. Bull. 3(1): 50-54.

 

 

 

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

การตรวจวัดทางสมุทรศาสตร์ฟิสิกส์บริเวณเกาะสีชัง - ปราโมทย์  โศจิศุภร (2551)

การไหลเวียนของกระแสน้ำในอ่าวไทยตอนบน : การทบทวนงานวิจัย - อนุกูล  บูรณประทีปรัตน์ (2551)