.

Hot Issue

สื่อออนไลน์

Search this site

ลงทะเบียน

MKH Update

Visitor


 

ผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

 

          ผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทยหรือผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หมายถึง "ผลประโยชน์ที่ประเทศไทย (คนไทยทุกคน) พึงได้รับจากทะเลหรือเกี่ยวเนื่องกับทะเลทั้งภายในน่านน้ำไทย หรือน่านน้ำอื่น ๆ รวมถึง ชายฝั่งทะเล เกาะ พื้นดินท้องทะเลหรือใต้พื้นดินท้องทะเล หรืออากาศเหนือท้องทะเลด้วย ทั้งนี้ไม่ว่ากิจกรรมใดในทุก ๆ ด้าน เช่นทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทางทะเล การขนส่งและพาณิชยนาวี การท่องเที่ยว การแสวงหาพลังงาน ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย การสำรวจวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทางทะเล หรืออื่น ๆ" โดยที่มูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล ก็น่าจะหมายถึงคุณค่าของผลประโยชน์จากทะเลในมิติที่สามารถประเมินออกมาในรูปตัวเงินและที่ไม่ใช่ตัวเงิน (ดัดแปลงมาจาก เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์, 2550)  โดยการให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลที่เพิ่มขึ้นนั้น เกิดจากกิจกรรมทางทะเลที่หลากหลายและเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ต้องอาศัยฐานของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งต้นทุนทางสังคมในด้าน่ต่างๆ เป็นฐาน  ซึ่งเมื่อมีการเพิ่มกิจกรรมทางทะเลที่มาก ก็จะทำให้ต้นทุนด้าน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งลดลงทั้งคุณภาพและปริมาณ และต้นทุนทางสังคมเปลี่ยนไปทั้งในทางที่ดีขึ้นและแย่ลง  โดยในสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลไม่ได้ตกอยู่ในมือของคนไทยในปริมาณที่ควรจะเป็น และประเทศไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า "สูญเสียผลประโยชน์ของชาติทางทะเลสุทธิ" (เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ และคณะ, 2562)

 

องค์ประกอบของผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย

          การที่จะให้เกิดภาพความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองการเปลี่ยนแปลงทั้งในมุมมองของเศรษฐกิจและสังคมของภาคทะเล รวมทั้งสถานการณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในบริบทที่สามารถเปรียบเทียบกันได้อย่างใกล้เคียงกันและเข้าใจได้ง่ายขึ้น ได้แก่ การมองการเปลี่ยนแปลงรวมถึงการวิเคราะห์โดยอาศัยเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งปัจจุบันได้มีการริเริ่มและความพยายามที่จะใช้กันอยู่ในหลายประเทศ ซึ่งในเรื่องนี้การมองการเปลี่ยนแปลงในรูปของเศรษฐกิจภาคทะเลของประเทศไทยหรือผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล ซึ่งประกอบไปด้วยมูลค่าของกิจกรรมทางทะเลและมหาสมุทรและต้นทุนธรรมชาติและระบบนิเวศการบริการทางทะเล (OECD, 2016) ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่มีความสำคัญ

          สำหรับความพยายามในการคิดมูลค่าดังกล่าวได้มีการดำเนินการในประเทศไทยมาตั้งแต่พ.ศ. 2550 ทั้งในภาพรวมของผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล ได้แก่ การศึกษาของ เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ และคณะ พ.ศ. 2550 และ 2553 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2557 และความพยายามที่จะประเมินในรูปของรายทรัพยากรและระบบนิเวศ ได้แก่ ผลงานของ อรพรรณ ณ บางช้าง ศรีเสาวลักษณ์ และคณะ พ.ศ. 2556 และ 2557 เป็นต้น

 

แนวทางและหลักการของการประเมินผลประโยชน์ทางทะเล

          แนวทางในการประเมินมูลค่าผลประโยชน์ทางทะเลมีหลายวิธี แต่แนวทางหนึ่งที่ได้ถูกเลือกนำมาใช้ในการประเมินมูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของประเทศไทยได้แก่ การประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม (Total Economics Value; TEV) ซึ่งเป็นวิธีที่เสนอโดย Dziegielewska et. al. (2009)

          ปัจจุบันหลายประเทศ รวมทั้งองค์กรต่างๆ ทั่วโลกได้ให้ความสําคัญกับการประเมินมูลค่า ผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล มีการศึกษาวิจัยในระดับนานาชาติได้เสนอแนวคิดจากการหามูลค่าทางเศรษฐศาสตร์โดยรวม (Total Economics Value; TEV) ซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกับการประเมินมูลค่าผลประโยชน์กิจกรรมทางบกซึ่งหลักการที่สําคัญของ TEV ก็คือเป็นการคิดมูลค่าทั้งหมดจากการใช้ประโยชน์ โดยตรงและทางอ้อม ทั้งมูลค่าที่เป็นตัวเงินจริง ๆ หรือที่เรียกว่า มูลค่าตลาด (market value) และมูลค่าที่ต้องประเมินเป็นรูปของตัวเงิน หรือมูลค่าที่ไม่มีตลาดรองรับ (non-market value) โดยมูลค่าที่ท่ีจะทําการประเมินแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักคือ

1) มูลค่าการใช้ประโยชน์ (use value) ซึ่งรวมถึงมูลค่าการใช้ประโยชน์โดยตรง (direct use value) และมูลค่าการใช้ประโยชน์ทางอ้อม (indirect use value)

2) มูลค่าการไม่ใช้ประโยชน์ (non-use value) แบ่งออกเป็นมูลค่าคงอยู่ (existence value) หมายถึงมูลค่า ของทรัพยากรที่บุคคลหรือสังคมต้องการให้คงอยู่ต่อไปในอนาคตแม้ว่าบุคคลหรือสังคมนั้นจะ ไม่มีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์หรือไม่มีโอกาสได้ใช้ทรัพยากรดังกล่าวเลยก็ตาม และมูลค่าเพื่อลูกหลาน (bequest value) หมายถึงมูลค่าของทรัพยากรที่บุคคลหรือสังคมในปัจจุบันต้อง อนุรักษ์ไว์ให้ลูกหลานได้เห็นหรือใช้ประโยชน์ (รูปที่ 1)

ตามรูปที่ 1 มูลค่าทางเศรษฐกิจของการใช้ประโยชน์ทรัพยากรมูลค่าหลักทั้ง 2 จะแบ่งเป็นมูลค่า ย่อยอีก 5 ประเภท (ตารางที่ 1) อย่างไรก็ตามยังมีข้อถกเถียงกันว่ามูลค่าสงวนไว้ใช้ในอนาคต (option value) ควรจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มใดโดยอาจอยู่ในมูลค่าการใช้ประโยชน์โดยตรง (direct use value) หรือ มูลค่าการใช้ประโยชน์ทางอ้อม (indirect use value) หรือ เป็นมูลค่าประเภทหนึ่งแยกจากมูลค่า การใช้ประโยชน์โดยตรง และ มูลค่าการใช้ประโยชน์ทางอ้อม (เส้นประในรูปที่ 1)

 

รูปที่ 1 มูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร

(ดัดแปลงจาก Dziegielewska, 2009)

 

ตารางที่ 1 คำจำกัดความของมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้ประโยชน์ทรัพยากร

 

มูลค่า (Value)

คำอธิบาย (description)

มูลค่าการใช้ประโยชน์

(Use value)

มูลค่าการใช้ประโยชน์โดยตรง (direct use value)

รายได้โดยตรงจากสินค้าและบริการ

มูลค่าการใช้ประโยชน์โดยอ้อม

(indirect use value)

บทบาทของระบบนิเวศ เช่น ความสามารถในการรองรับของเสียของน้ำทะเลในบริเวณชายฝั่ง แนวปะการัง ป่าชายเลนที่เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเล การดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง การเป็นแหล่งอาหารและตะกอนของป่าชายเลน เป็นต้น

 

มูลค่าทางเลือก

(option value)

มูลค่าสินค้าและบริการที่อาจไม่ถูกใช้ในปัจจุบัน แต่บุคคลหรือสังคมต้องการเก็บไว้ใช้ในอนาคต

มูลค่าการไม่ใช้ประโยชน์

(Non-use value)

มูลค่าการคงอยู่

(existence value)

มูลค่าของการคงอยู่ของสิ่งมีชีวิตหรือที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่บุคคลหรือสังคมยินดีที่รักษาไว้โดยไม่มีการใช้

มูลค่าเพื่อลูกหลาน

(bequest value)

ประโยชน์ที่จะได้รับในการสงวนสินค้าบางชนิดไว้สำหรับลูกหลาน

(ดัดแปลงจาก Dziegielewska, 2009)

 

ตัวอย่างการประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์โดยรวมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

          มีรายงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งซึ่ง ได้ทำการรวบรวมรายงานการประเมินมูลค่าฯ อรพรรณ  ณ บางช้าง ศรีเสาวลักษณ์ และคณะ ใน พ.ศ. 2554 2556 และ 2557 ซึ่งตัวอย่างการประเมินมูลค่าฯ มีดังต่อไปนี้

 

1) การประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของระบบนิเวศปะการังบริเวณเกาะอเมริกันซามัว ประเทศสหรัฐอเมริกา

          ใน พ.ศ. 2547 บริษัท Jacobs GIBB ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลบริเวณเกาะอเมริกันซามัว 3 รูปแบบ ได้แก่ การเก็บข้อมูลทุติยภูมิ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ และการสัมภาษณ์จากประชาชนโดยตรง (Contingent Valuation Method ; CVM) 

          การประเมินมูลค่าการใช้ประโยชน์โดยตรงของปะการังบริเวณหมู่เกาะอเมริกันซามัว แสดงให้เห็นว่าทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวได้ประโยชน์จากระบบนิเวศปะการังโดยตรง มีมูลค่าประมาณ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และเมื่อรวมประโยชน์ที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ของพลเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกา ปะการังจะมีมูลค่าอย่างน้อย 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

          มูลค่าการใช้ประโยชน์ทางอ้อมของปะการังจากรายงานประกอบด้วยการประมงพื้นบ้านและประโยชน์ด้านการป้องกันชายฝั่ง โดยใช้การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพ (change in productivity) ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในกรณีของมูลค่าที่เกิดจาก
การป้องกันชายฝั่ง พิจารณาจากงบประมาณที่ประหยัดจากการที่ไม่ต้องสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 447,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

          มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ปะการังมาจากความพอใจที่ได้รับรู้ว่าปะการังของหมู่เกาะ อเมริกันซามัวยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ โดยความพอใจดังกล่าวเกิดจากความคาดหวังที่ว่าตนเอง อาจจะได้รับประโยชน์ในอนาคต (option value) หรือลูกหลานอาจได้รับประโยชน์ (bequest value) จากปะการังในอนาคต พบว่ามูลค่าโดยรวมของปะการังจะพบว่ามูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุด (ร้อยละ 87) ของมูลค่าทั้งหมดของปะการัง ในขณะที่มูลค่าทางอ้อมของปะการังคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของมูลค่าทั้งหมด

          สำหรับการกระจายประโยชน์ของทรัพยากรที่แต่ละกลุ่มบุคคลได้รับ พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าของปะการังมาจากประโยชน์ที่คนท้องถิ่นในหมู่เกาะอเมริกันซามัวได้รับ และร้อยละ 75 ของมูลค่าทั้งหมด คือ มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ซึ่งประกอบด้วยประโยชน์ด้านวัฒนธรรมและสังคมของปะการังที่มีต่อชุมชนท้องถิ่น โดยมูลค่าที่ประเมินโดยคนท้องถิ่นคิดเป็น 3,598,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี มูลค่าที่ประเมินโดยนักท่องเที่ยว 235,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และมูลค่าที่ประเมินโดยชาวอเมริกัน 4,964,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

 

2) การประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของระบบนิเวศปะการัง เกาะพีพี ประเทศไทย

          ผลการศึกษาในการประเมินมูลค่าของแนวปะการัง เกาะพีพี จากรายงานของ Seenprachawong, Udomsak ปี ค.ศ. 2001 ในส่วนของ Individual travel cost model โดยใช้รูปแบบ double-log functional form รายงานว่า ปัจจัยค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวมีผลทางลบต่ออุปสงค์ของการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ ผลการคำนวณมูลค่าส่วนเกินของผู้บริโภค (consumer surplus) ที่มาท่องเที่ยวเชิงสันทนาการที่เกาะพีพี เท่ากับ 8,216.4 ล้านบาท ต่อปี (US$ 205.41 million) โดยมาจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 69.90 ล้านบาทต่อปี (US$ 1.75 million) และจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 8,146.4 ล้านบาทต่อปี (US$ 203.66 million) และเมื่อคิดต่อพื้นที่เท่ากับ 249,720 บาท (US$ 6,243) ต่อเฮกตาร์ต่อปี เมื่อคำนวณเป็นค่าปัจจุบันสุทธิเท่ากับ 126,280 ล้านบาท (US$ 3,157 million) ปรับค่าด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงร้อยละ 5 ในระยะเวลา 30 ปี

          ผลการศึกษาในการประเมินความเต็มใจจะบริจาคของประชาชนเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการัง เกาะพีพี วิธี Contingent valuation method โดยใช้แบบจำลอง logit model รายงานว่า ปัจจัยที่มีผลต่อขนาดของความเต็มใจจะบริจาคอย่างมีนัยสำคัญ คือ ราคาที่เสนอ และระดับการศึกษา โดยที่ ยิ่งราคาที่เสนอสูงโอกาสที่จะบริจาคลดลง ในขณะที่ระดับการศึกษายิ่งสูงโอกาสที่จะบริจาคเพิ่มขึ้น ส่วนรายได้และอายุไม่มีผลต่อความเต็มใจจะบริจาค

          ผลการคำนวณมูลค่าเฉลี่ยความเต็มใจจะบริจาคของนักท่องเที่ยวชาวไทยเท่ากับ 287 บาท (US$ 7.17) ต่อครั้ง สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเท่ากับ 286 บาท (US$7.15) ต่อครั้ง โดยคิดเป็น มูลค่ารวมของคนไทยเท่ากับ 5.89 ล้านบาท (US$0.147 million) ต่อปี ชาวต่างชาติเท่ากับ 49.6 ล้านบาท (US$1.24 million) ต่อปี สำหรับการประเมินมูลค่าประโยชน์ที่มิได้ใช้ของแนวปะการัง พบว่า ประชาชนมีความเต็ม ใจจะจ่ายเท่ากับ 634 บาท (US$ 15.85) ต่อคน เมื่อคูณด้วยจำนวนแรงงานไทย 31.3 ล้านคน เท่ากับ 19,840 ล้านบาท (US$496 million) ต่อปี ดังนั้น มูลค่าประโยชน์รวมทางเศรษฐศาสตร์ (use value and non-use value) ของแนว ปะการัง เกาะพีพี จึงมีค่าเท่ากับ 19,895 ล้านบาท (US$ 497.38 million) หรือเทียบเท่า 604,720 บาท (US$15,118) ต่อเฮกตาร์ต่อปี

          ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อมูลค่าประโยชน์ของแนวปะการัง เกาะพีพี คือ ควรมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมค่าเข้า เกาะพีพี ในอัตรา 40 บาท (US$ 1) ต่อคนต่อครั้ง พร้อมกำหนดค่าธรรมเนียมการให้บริการพิเศษต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเปราะบาง เช่น ค่าธรรมเนียมการดำน้ำลึกเพื่อดูแนวปะการังที่อ่าวมายาในอัตรา 150 บาท (US$ 3.75) ต่อคนต่อครั้ง เป็นต้น การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นวิธีการหนึ่งในการถ่าย โอนการบริโภคส่วนเกินจาก high-end consumers ทำให้เกิดกำไรทางเศรษฐกิจโดยไม่ส่งผล กระทบต่อ low-income visitors และที่สำคัญยังเป็นการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่ เปราะบางอีกด้วย

 

3) การพยากรณ์การกัดเซาะชายฝั่ง และมูลค่าเชิงสันทนาการของชายหาดประเทศไทย

          จากรายงานของ Saengsupavanich และคณะ ในปี ค.ศ. 2008 การวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศก่อนและหลังการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุดชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชายหาด และจากการใช้โปรแกรมสำเร็จรูป MIKE21 PMS และLITPACK ในการพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชายหาดน้ำรินจากการสร้างท่าเรือมาบตาพุดโดยสิ่งก่อสร้างที่ยื่นไปในทะเลเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางของคลื่นและลมนำมาซึ่งการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล พบว่า ชายหาดสาธารณะน้ำรินจะหายไปในอีก 5 ปี ข้างหน้า

           จากนั้นนำข้อมูลการพยากรณ์ดังกล่าวมาประกอบการศึกษาประเมินมูลค่าของ ชายหาดน้ำรินขึ้นโดยวิธี single-bounded dichotomous choice contingent valuation method ทำการสัมภาษณ์ประชาชนถึงความเต็มใจที่จะบริจาคเพื่อร่วมกันรักษาชายหาดน้ำรินไว้ จากการวิเคราะห์แบบจำลอง logit และ probit พบว่า  ปัจจัยที่มีผลต่อความเต็มใจที่จะบริจาค คือ ราคาที่เสนอ
ถ้าราคาเสนอยิ่งสูง โอกาสที่จะยินดีบริจาคลดลง ในขณะที่คนหนุ่มสาว คนที่มีระดับการศึกษาน้อย และคนที่มีรายได้สูง มีความยินดีที่จะบริจาคมากกว่า เป็นต้น

          การคำนวณค่ามัธยฐานของมูลค่าความเต็มใจที่จะบริจาคในการร่วมกันรักษาชายหาดน้ำรินมีค่าเท่ากับ 867.5 บาทต่อปี (US$ 24.8) สำหรับมูลค่ารวมของชายหาดน้ำรินคำนวณจาก มูลค่าความเต็มใจที่จะบริจาค คูณด้วย จำนวนประชากรทั้ง หมดในอำเภอมาบตาพุด (36,528 คน) และบ้านฉาง (48,847 คน) มีค่าเท่ากับ 74 ล้านบาทต่อปี (US$ 2.11 million) ซึ่งนับเป็นมูลค่ารวมทั้งหมด (มูลค่าที่ได้ใช้ประโยชน์และยังไม่ได้ใช้ประโยชน์)

          จากการสอบถามร้านค้าบริเวณชายหาด พบว่า ในวันธรรมดามีคนมาเที่ยวชายหาดประมาณ 150-200 คนต่อวัน และเสาร์อาทิตย์ประมาณ 500-700 ดังนั้น ในหนึ่งปีมีคนมาเที่ยวชายหาดน้ำริน 91,000 ครั้ง (หนึ่งคนมาเที่ยวชายหาด 36 ครั้ง ต่อปี) หรือเท่ากับ 2,528 คนต่อปี
คิดเป็น มูลค่าประโยชน์ของชายหาดน้ำริน (use value) ประมาณ 2.2 ล้านบาทต่อปี (US$ 63,000) ดังนั้น มูลค่า non-use ของชายหาดน้ำริน เท่ากับ 71.8 ล้านบาท (US$ 2.05 million) ดังนั้น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สามารถนำข้อมูลด้านมูลค่าประโยชน์ของ ชายหาดน้ำริน
จากการศึกษานี้ ซึ่งเทียบเท่ากับประโยชน์ในการปกป้องชายหาดน้ำริน มาประกอบการพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมในการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่เกิดจากท่าเรือมาบตาพุดต่อไป

 

4) การประเมินมูลค่าเศรษฐกิจรวมของทรัพยากร และระบบนิเวศปะการัง ป่าชายเลน และหญ้าทะเล

          จากรายงานของโครงการการวิเคราะห์ความคุ้มค่าประเมินผลกระทบระบบนิเวศทางทะเลและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากร (อรพรรณ ณ บางช้าง ศรีเสาวลักษณ์, 2557) ซึ่งในการประเมินนั้นได้แบ่งมูลค่าเศรษฐกิจออกเป็น 2 ส่วน คือ มูลค่าการใช้ และมูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ แสดงดังรูปที่ 1

 

รูปที่ 1 มูลค่าเศรษฐกิจรวมของพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งรวมถึง ป่าชายเลน แนวหญ้าทะเล แนวปะการัง และ พื้นที่บริเวณปากอ่าว

 

          จากการทบทวนในรายงาน สามารถสรุปมูลค่าเศรษฐกิจของระบบนิเวศป่าชายเลน ปะการัง และหญ้าทะเล ในตารางที่ 2 โดยมูลค่าของระบบนิเวศปะการัง หญ้าทะเล และป่าชายเลน ในเบื้องต้นใน พ.ศ. 2557 คำนวณได้เท่ากับ 912,958.68 ล้านบาท

ถ้าหากคิดไปอีก 20 ปี ในกรณีที่คุณภาพของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ประโยชน์ที่ได้ย่อมเกิดขึ้นต่อเนื่องไปในอนาคต จึงได้ตั้งสมมติฐานว่าหากไม่มีความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศป่าชายเลน หญ้าทะเล และปะการัง ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ในรูปของมูลค่าเศรษฐกิจเท่ากันทุกปี ต่อเนื่องไปในอนาคตจาก  พ.ศ. 2557 ไปจนถึง พ.ศ. 2576

          สมมติฐานอีกข้อหนึ่ง คือ มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ของสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์เป็นมูลค่าที่คงที่ในแต่ละปีและไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะเวลา 20 ปีเช่นเดียวกัน ในความเป็นจริงมูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้อาจจะเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากทัศนคติซึ่งขึ้นอยู่กับระดับรายได้ ข้อมูลข่าวสาร และที่สำคัญคือภาวะความเสี่ยงของการสูญพันธุ์ เช่น ถ้าจำนวนของพะยูนลดลงจนถึงขั้นวิกฤต ประชาชนอาจจะให้ความสนใจและความสำคัญมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมูลค่าของเงินในแต่ละปีไม่เท่ากันจึงต้องแปลงมูลค่าของแต่ละปีให้กลับมาเป็นมูลค่า พ.ศ. 2557 โดยใช้อัตราคิดลด (discount factor) ซึ่งจะใช้ในการปรับให้มูลค่าประจำปีเป็นมูลค่าปัจจุบันนั้นสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Social Rate of Time Preference โดยสังเขป การใช้อัตราคิดลดที่สูงสื่อความหมายว่าสังคมให้นํ้าหนักความสำคัญกับสวัสดิการของคนรุ่นปัจจุบันมากกว่าคนรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต และในทางตรงกันข้ามถ้าอัตราคิดลดตํ่าก็สื่อความหมายว่าสังคมให้นํ้าหนักความสำคัญกับสวัสดิการของคนรุ่นลูกรุ่นหลานในระดับหนึ่ง โดยทั่วไปหากเป็นโครงการทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมการปรับมูลค่าให้เป็นมูลค่าปัจจุบันมักจะใช้อัตราคิดลดที่ตํ่าเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงเจตนาที่จะให้เกิดความเสมอภาคระหว่างคนในยุคนี้และรุ่นลูกรุ่นหลาน การคำนวณในตารางที่ 2.2 ได้ใช้อัตราคิดลดร้อยละ 6 และมูลค่าเศรษฐกิจรวมสำหรับระยะเวลา 20 ปี ที่คำนวณไว้จะเท่ากับ 9,635,167 ล้านบาท หรือ 481,758 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ หากระบบนิเวศเสื่อมโทรมลงกระแสรายได้ที่คำนวณไว้ก็จะไม่เกิดขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากมีการดูแลรักษาและฟื้นฟูของสภาพระบบนิเวศทั้งสาม มูลค่าเศรษฐกิจประเภทต่าง ๆ ในแต่ละปีอาจจะเพิ่มขึ้นแทนที่จะเป็นมูลค่าคงที่ตามสมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณของตาราง

 

ตารางที่ 2 การประมาณการณ์มูลค่าเศรษฐกิจรวมของระบบนิเวศป่าชายเลน หญ้าทะเล และ 
                ปะการังระหว่าง พ.ศ. 2557 – 2576 คำนวณเป็นมูลค่าโดยใช้อัตราคิดลดร้อยละ 6

ประเภทมูลค่า

มูลค่า (ล้านบาท)

พ.ศ. 2557

พ.ศ. 2557-2576

เฉลี่ยต่อปี

1. มูลค่าจากการใช้ (use value)

1.1 มูลค่าจากการประมง

1.2 มูลค่าจากการท่องเที่ยว

1.2.1 รายได้จากการท่องเที่ยว (รวมต่างชาติ)

1.2.2 รายได้จากการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติทางทะเล

 

152,021.832.1

 

434,2582.2

1952.3

 

1,482,090

 

4,845,501

2,176

 

74,104

 

242,275

109

2. มูลค่าที่เกิดจากการใช้ทางอ้อม
   (
indirect use value)

2.1 ป่าชายเลน

2.1.1 ประโยชน์ในการดูซับและกักเก็บคาร์บอน

2.1.2 ประโยชน์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง

2.1.3 ประโยชน์ในการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลปลา

2.2 ปะการัง

2.2.1 คำนวณจากต้นทุนในการฟื้นฟูปะการัง

2.2.2 คำนวณจากต้นทุนสำหรับมาตรการในการ
       ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง1

2.3 หญ้าทะเล (ดูดซับและกักเก็บคาร์บอน)

 

 

 

53,796.52.4

138,4022.5

19,3112.6

 

 

2,1742.7

30,2512.8

 

67,878.052.9

 

 

 

600,268

1,544,306

215,474

 

 

24,258

-

 

757,391

 

 

 

30,013

77,215

10,774

 

 

1,213

-

 

37,870

3. มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ (non-use value)

3.1 ป่าชายเลน

3.2 ปะการัง

3.3 หญ้าทะเล

3.4 มูลค่าสัตว์ทะเลหายาก

3.4.1 เต่าทะเล

3.4.2 โลมาอิรวดี

3.4.3 กระเบนราหู

3.4.4 ฉลามวาฬ

 

-

1,764.52.10

5,5562.11

 

5,225.852.12

1,269.082.13

464.512.14

391.362.15

 

-

19,688

61,994

 

58,311

14,161

5,183

4,367

 

-

984

3,100

 

2,916

708

259

218

รวม

912,958.68

9,635,167

481,758

หมายเหตุ :

1. ในระยะเวลา 20 ปี คำนวณเฉพาะต้นทุนการลงทุน (Capital Investment) ในปีแรก และไม่ได้คำนวณต้นทุนของการดูแลรักษา

2. ที่มาของข้อมูลในตารางมีดังต่อไปนี้

2.1 มูลค่าจากการประมง : กรมประมง

2.2 รายได้จาการท่องเที่ยว : กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา .สรุปสถานการณ์นักท่องเที่ยว มกราคม – กันยายน 2556 (จำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มกราคม – กันยายน 2556)

2.3 รายได้จากการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติทางทะเล : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

2.4. ประโยชน์ในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน : คำนวณโดยใช้มูลค่าของต้นทุนทางสังคมของคาร์บอน (Social Cost of Carbon) ใน พ.ศ. 2555 ซึ่งเท่ากับ 37 ดอลลาร์สหรัฐฯ / 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

2.5 ประโยชน์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และ ประโยชน์ในการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลปลา : ปรับจากข้อมูลของ Edward Barbier (2012)

              2.6 ปะการัง คำนวณจากต้นทุนในการฟื้นฟูแนวปะการัง เกาะไม้ท่อน จังหวัดภูเก็ต และต้นทุนของมาตรการป้องกันการ

 2.7 ปะการัง คำนวณจากต้นทุนสำหรับมาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

2.8 หญ้าทะเล (ประโยชน์จากการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน) : คำนวณเฉพาะประโยชน์ในด้านการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน โดยใช้มูลค่าของต้นทุนทางสังคมของคาร์บอน (Social Cost of Carbon) ของ พ.ศ. 2555

2.9 มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ ป่าชายเลน : ไม่ได้ประเมินมูลค่าเนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่นั้น ไม่เพียงพอสำหรับการประเมินมูลค่า

2.10 มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ ปะการัง : คำนวณจากมูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ ซึ่งเท่ากับ 759 บาท/ราย จากรายงานอรพรรณ ณ บางช้าง-ศรีเสาวลักษณ์ “การประเมินมูลค่าความเสียหายของระบบนิเวศปะการังจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ” กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กันยายน 2556 คูณด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาอุทยานแห่งชาติทางทะเลใน พ.ศ. 2556

2.11 มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ หญ้าทะเล : คำนวณโดยใช้ Benefit Transfer จากรายงานของ
อรพรรณ ณ บางช้าง-ศรีเสาวลักษณ์ “การศึกษาและวิเคราะห์ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของระบบนิเวศหญ้าทะเลเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการสร้างกลไกทางการเงินเพื่อการบริหารการจัดการอย่างยั่งยืน” กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ธันวาคม 2555

2.12 มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ เต่าทะเล : คำนวณโดยใช้ Benefit Transfer จากการศึกษาเรื่อง “Willingness to Pay for The Conservation of Endangered Species in Four Asian Countries” (Mobilizing Resources for Marine Turtle Conservation in Asia : A Cross-Country Perspective) Economy and Environment Program for Southeast Asia (2008)

2.13 มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ โลมาอิรวดี : คำนวณโดยใช้ Benefit Transfer จากรายงานของ
อรพรรณ ณ บางช้าง-ศรีเสาวลักษณ์ “การศึกษามูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของโลมาในประเทศไทย” กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 2552 ต่อ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

2.14 มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ กระเบนราหู : คำนวณโดยใช้ Benefit Transfer จากการศึกษาเรื่อง “Valuation Assessment of Icon Species in Lanta Marine National Park: Willingness to Pay for Conservation”. WWF Thailand Office. (2011).

2.15 มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ ฉลามวาฬ : คำนวณโดยใช้ Benefit Transfer จากการศึกษาเรื่อง “Valuation Assessment of Icon Species in Lanta Marine National Park: Willingness to Pay for Conservation”. WWF Thailand Office. (2011).

 

อย่างไรก็ตามการผลของการวิเคราะห์นั้นเป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อที่จะปรับปรุงฐานข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าเศรษฐกิจของทรัพยากรทะเลและชายฝั่งเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพยากรที่มีชีวิตซึ่งมีข้อจำกัดอยู่หลายด้าน เช่น ปัจจัยจำกัดจากงานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ปัจจัยจำกัดของฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านการประมง ด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับระบบนิเวศไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำมาประกอบการวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ได้ทันที จึงทำให้ต้องมีการตั้งสมมติฐานต่าง ๆ ในการประเมินที่อาจจะไม่สะท้อนให้เห็นความสลับซับซ้อนของกลไกระบบนิเวศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อเนื่องและช่วยเติมเต็มช่องว่างของข้อมูลและนำไปสู่การวิเคราะห์ที่แม่นยำมากขึ้นในอนาคต

 

 

 



bottom

top

Latest News

Popular


bottom