ผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
ผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทยหรือผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หมายถึง "ผลประโยชน์ที่ประเทศไทย (คนไทยทุกคน) พึงได้รับจากทะเลหรือเกี่ยวเนื่องกับทะเลทั้งภายในน่านน้ำไทย หรือน่านน้ำอื่น ๆ รวมถึง ชายฝั่งทะเล เกาะ พื้นดินท้องทะเลหรือใต้พื้นดินท้องทะเล หรืออากาศเหนือท้องทะเลด้วย ทั้งนี้ไม่ว่ากิจกรรมใดในทุก ๆ ด้าน เช่นทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทางทะเล การขนส่งและพาณิชยนาวี การท่องเที่ยว การแสวงหาพลังงาน ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย การสำรวจวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทางทะเล หรืออื่น ๆ" โดยที่มูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล ก็น่าจะหมายถึงคุณค่าของผลประโยชน์จากทะเลในมิติที่สามารถประเมินออกมาในรูปตัวเงินและที่ไม่ใช่ตัวเงิน (ดัดแปลงมาจาก เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์, 2550) โดยการให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลที่เพิ่มขึ้นนั้น เกิดจากกิจกรรมทางทะเลที่หลากหลายและเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ต้องอาศัยฐานของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งต้นทุนทางสังคมในด้าน่ต่างๆ เป็นฐาน ซึ่งเมื่อมีการเพิ่มกิจกรรมทางทะเลที่มาก ก็จะทำให้ต้นทุนด้าน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งลดลงทั้งคุณภาพและปริมาณ และต้นทุนทางสังคมเปลี่ยนไปทั้งในทางที่ดีขึ้นและแย่ลง โดยในสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลไม่ได้ตกอยู่ในมือของคนไทยในปริมาณที่ควรจะเป็น และประเทศไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า "สูญเสียผลประโยชน์ของชาติทางทะเลสุทธิ" (เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ และคณะ, 2562)
องค์ประกอบของผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย
การที่จะให้เกิดภาพความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองการเปลี่ยนแปลงทั้งในมุมมองของเศรษฐกิจและสังคมของภาคทะเล รวมทั้งสถานการณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในบริบทที่สามารถเปรียบเทียบกันได้อย่างใกล้เคียงกันและเข้าใจได้ง่ายขึ้น ได้แก่ การมองการเปลี่ยนแปลงรวมถึงการวิเคราะห์โดยอาศัยเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งปัจจุบันได้มีการริเริ่มและความพยายามที่จะใช้กันอยู่ในหลายประเทศ ซึ่งในเรื่องนี้การมองการเปลี่ยนแปลงในรูปของเศรษฐกิจภาคทะเลของประเทศไทยหรือผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล ซึ่งประกอบไปด้วยมูลค่าของกิจกรรมทางทะเลและมหาสมุทรและต้นทุนธรรมชาติและระบบนิเวศการบริการทางทะเล (OECD, 2016) ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่มีความสำคัญ
สำหรับความพยายามในการคิดมูลค่าดังกล่าวได้มีการดำเนินการในประเทศไทยมาตั้งแต่พ.ศ. 2550 ทั้งในภาพรวมของผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล ได้แก่ การศึกษาของ เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ และคณะ พ.ศ. 2550 และ 2553 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2557 และความพยายามที่จะประเมินในรูปของรายทรัพยากรและระบบนิเวศ ได้แก่ ผลงานของ อรพรรณ ณ บางช้าง ศรีเสาวลักษณ์ และคณะ พ.ศ. 2556 และ 2557 เป็นต้น
แนวทางและหลักการของการประเมินผลประโยชน์ทางทะเล
แนวทางในการประเมินมูลค่าผลประโยชน์ทางทะเลมีหลายวิธี แต่แนวทางหนึ่งที่ได้ถูกเลือกนำมาใช้ในการประเมินมูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของประเทศไทยได้แก่ การประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม (Total Economics Value; TEV) ซึ่งเป็นวิธีที่เสนอโดย Dziegielewska et. al. (2009)
ปัจจุบันหลายประเทศ รวมทั้งองค์กรต่างๆ ทั่วโลกได้ให้ความสําคัญกับการประเมินมูลค่า ผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล มีการศึกษาวิจัยในระดับนานาชาติได้เสนอแนวคิดจากการหามูลค่าทางเศรษฐศาสตร์โดยรวม (Total Economics Value; TEV) ซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกับการประเมินมูลค่าผลประโยชน์กิจกรรมทางบกซึ่งหลักการที่สําคัญของ TEV ก็คือเป็นการคิดมูลค่าทั้งหมดจากการใช้ประโยชน์ โดยตรงและทางอ้อม ทั้งมูลค่าที่เป็นตัวเงินจริง ๆ หรือที่เรียกว่า มูลค่าตลาด (market value) และมูลค่าที่ต้องประเมินเป็นรูปของตัวเงิน หรือมูลค่าที่ไม่มีตลาดรองรับ (non-market value) โดยมูลค่าที่ท่ีจะทําการประเมินแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักคือ
1) มูลค่าการใช้ประโยชน์ (use value) ซึ่งรวมถึงมูลค่าการใช้ประโยชน์โดยตรง (direct use value) และมูลค่าการใช้ประโยชน์ทางอ้อม (indirect use value)
2) มูลค่าการไม่ใช้ประโยชน์ (non-use value) แบ่งออกเป็นมูลค่าคงอยู่ (existence value) หมายถึงมูลค่า ของทรัพยากรที่บุคคลหรือสังคมต้องการให้คงอยู่ต่อไปในอนาคตแม้ว่าบุคคลหรือสังคมนั้นจะ ไม่มีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์หรือไม่มีโอกาสได้ใช้ทรัพยากรดังกล่าวเลยก็ตาม และมูลค่าเพื่อลูกหลาน (bequest value) หมายถึงมูลค่าของทรัพยากรที่บุคคลหรือสังคมในปัจจุบันต้อง อนุรักษ์ไว์ให้ลูกหลานได้เห็นหรือใช้ประโยชน์ (รูปที่ 1)
ตามรูปที่ 1 มูลค่าทางเศรษฐกิจของการใช้ประโยชน์ทรัพยากรมูลค่าหลักทั้ง 2 จะแบ่งเป็นมูลค่า ย่อยอีก 5 ประเภท (ตารางที่ 1) อย่างไรก็ตามยังมีข้อถกเถียงกันว่ามูลค่าสงวนไว้ใช้ในอนาคต (option value) ควรจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มใดโดยอาจอยู่ในมูลค่าการใช้ประโยชน์โดยตรง (direct use value) หรือ มูลค่าการใช้ประโยชน์ทางอ้อม (indirect use value) หรือ เป็นมูลค่าประเภทหนึ่งแยกจากมูลค่า การใช้ประโยชน์โดยตรง และ มูลค่าการใช้ประโยชน์ทางอ้อม (เส้นประในรูปที่ 1)
รูปที่ 1 มูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร
(ดัดแปลงจาก Dziegielewska, 2009)
ตารางที่ 1 คำจำกัดความของมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้ประโยชน์ทรัพยากร
|
มูลค่า (Value) |
คำอธิบาย (description) |
มูลค่าการใช้ประโยชน์ (Use value) |
มูลค่าการใช้ประโยชน์โดยตรง (direct use value) |
รายได้โดยตรงจากสินค้าและบริการ |
มูลค่าการใช้ประโยชน์โดยอ้อม (indirect use value) |
บทบาทของระบบนิเวศ เช่น ความสามารถในการรองรับของเสียของน้ำทะเลในบริเวณชายฝั่ง แนวปะการัง ป่าชายเลนที่เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเล การดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง การเป็นแหล่งอาหารและตะกอนของป่าชายเลน เป็นต้น |
|
|
มูลค่าทางเลือก (option value) |
มูลค่าสินค้าและบริการที่อาจไม่ถูกใช้ในปัจจุบัน แต่บุคคลหรือสังคมต้องการเก็บไว้ใช้ในอนาคต |
มูลค่าการไม่ใช้ประโยชน์ (Non-use value) |
มูลค่าการคงอยู่ (existence value) |
มูลค่าของการคงอยู่ของสิ่งมีชีวิตหรือที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่บุคคลหรือสังคมยินดีที่รักษาไว้โดยไม่มีการใช้ |
มูลค่าเพื่อลูกหลาน (bequest value) |
ประโยชน์ที่จะได้รับในการสงวนสินค้าบางชนิดไว้สำหรับลูกหลาน |
(ดัดแปลงจาก Dziegielewska, 2009)
ตัวอย่างการประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์โดยรวมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
มีรายงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งซึ่ง ได้ทำการรวบรวมรายงานการประเมินมูลค่าฯ อรพรรณ ณ บางช้าง ศรีเสาวลักษณ์ และคณะ ใน พ.ศ. 2554 2556 และ 2557 ซึ่งตัวอย่างการประเมินมูลค่าฯ มีดังต่อไปนี้
1) การประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของระบบนิเวศปะการังบริเวณเกาะอเมริกันซามัว ประเทศสหรัฐอเมริกา
ใน พ.ศ. 2547 บริษัท Jacobs GIBB ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลบริเวณเกาะอเมริกันซามัว 3 รูปแบบ ได้แก่ การเก็บข้อมูลทุติยภูมิ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ และการสัมภาษณ์จากประชาชนโดยตรง (Contingent Valuation Method ; CVM)
การประเมินมูลค่าการใช้ประโยชน์โดยตรงของปะการังบริเวณหมู่เกาะอเมริกันซามัว แสดงให้เห็นว่าทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวได้ประโยชน์จากระบบนิเวศปะการังโดยตรง มีมูลค่าประมาณ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และเมื่อรวมประโยชน์ที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ของพลเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกา ปะการังจะมีมูลค่าอย่างน้อย 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
มูลค่าการใช้ประโยชน์ทางอ้อมของปะการังจากรายงานประกอบด้วยการประมงพื้นบ้านและประโยชน์ด้านการป้องกันชายฝั่ง โดยใช้การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพ (change in productivity) ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในกรณีของมูลค่าที่เกิดจาก
การป้องกันชายฝั่ง พิจารณาจากงบประมาณที่ประหยัดจากการที่ไม่ต้องสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 447,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ปะการังมาจากความพอใจที่ได้รับรู้ว่าปะการังของหมู่เกาะ อเมริกันซามัวยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ โดยความพอใจดังกล่าวเกิดจากความคาดหวังที่ว่าตนเอง อาจจะได้รับประโยชน์ในอนาคต (option value) หรือลูกหลานอาจได้รับประโยชน์ (bequest value) จากปะการังในอนาคต พบว่ามูลค่าโดยรวมของปะการังจะพบว่ามูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุด (ร้อยละ 87) ของมูลค่าทั้งหมดของปะการัง ในขณะที่มูลค่าทางอ้อมของปะการังคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของมูลค่าทั้งหมด
สำหรับการกระจายประโยชน์ของทรัพยากรที่แต่ละกลุ่มบุคคลได้รับ พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าของปะการังมาจากประโยชน์ที่คนท้องถิ่นในหมู่เกาะอเมริกันซามัวได้รับ และร้อยละ 75 ของมูลค่าทั้งหมด คือ มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ซึ่งประกอบด้วยประโยชน์ด้านวัฒนธรรมและสังคมของปะการังที่มีต่อชุมชนท้องถิ่น โดยมูลค่าที่ประเมินโดยคนท้องถิ่นคิดเป็น 3,598,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี มูลค่าที่ประเมินโดยนักท่องเที่ยว 235,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และมูลค่าที่ประเมินโดยชาวอเมริกัน 4,964,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
2) การประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของระบบนิเวศปะการัง เกาะพีพี ประเทศไทย
ผลการศึกษาในการประเมินมูลค่าของแนวปะการัง เกาะพีพี จากรายงานของ Seenprachawong, Udomsak ปี ค.ศ. 2001 ในส่วนของ Individual travel cost model โดยใช้รูปแบบ double-log functional form รายงานว่า ปัจจัยค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวมีผลทางลบต่ออุปสงค์ของการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ ผลการคำนวณมูลค่าส่วนเกินของผู้บริโภค (consumer surplus) ที่มาท่องเที่ยวเชิงสันทนาการที่เกาะพีพี เท่ากับ 8,216.4 ล้านบาท ต่อปี (US$ 205.41 million) โดยมาจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 69.90 ล้านบาทต่อปี (US$ 1.75 million) และจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 8,146.4 ล้านบาทต่อปี (US$ 203.66 million) และเมื่อคิดต่อพื้นที่เท่ากับ 249,720 บาท (US$ 6,243) ต่อเฮกตาร์ต่อปี เมื่อคำนวณเป็นค่าปัจจุบันสุทธิเท่ากับ 126,280 ล้านบาท (US$ 3,157 million) ปรับค่าด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงร้อยละ 5 ในระยะเวลา 30 ปี
ผลการศึกษาในการประเมินความเต็มใจจะบริจาคของประชาชนเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการัง เกาะพีพี วิธี Contingent valuation method โดยใช้แบบจำลอง logit model รายงานว่า ปัจจัยที่มีผลต่อขนาดของความเต็มใจจะบริจาคอย่างมีนัยสำคัญ คือ ราคาที่เสนอ และระดับการศึกษา โดยที่ ยิ่งราคาที่เสนอสูงโอกาสที่จะบริจาคลดลง ในขณะที่ระดับการศึกษายิ่งสูงโอกาสที่จะบริจาคเพิ่มขึ้น ส่วนรายได้และอายุไม่มีผลต่อความเต็มใจจะบริจาค
ผลการคำนวณมูลค่าเฉลี่ยความเต็มใจจะบริจาคของนักท่องเที่ยวชาวไทยเท่ากับ 287 บาท (US$ 7.17) ต่อครั้ง สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเท่ากับ 286 บาท (US$7.15) ต่อครั้ง โดยคิดเป็น มูลค่ารวมของคนไทยเท่ากับ 5.89 ล้านบาท (US$0.147 million) ต่อปี ชาวต่างชาติเท่ากับ 49.6 ล้านบาท (US$1.24 million) ต่อปี สำหรับการประเมินมูลค่าประโยชน์ที่มิได้ใช้ของแนวปะการัง พบว่า ประชาชนมีความเต็ม ใจจะจ่ายเท่ากับ 634 บาท (US$ 15.85) ต่อคน เมื่อคูณด้วยจำนวนแรงงานไทย 31.3 ล้านคน เท่ากับ 19,840 ล้านบาท (US$496 million) ต่อปี ดังนั้น มูลค่าประโยชน์รวมทางเศรษฐศาสตร์ (use value and non-use value) ของแนว ปะการัง เกาะพีพี จึงมีค่าเท่ากับ 19,895 ล้านบาท (US$ 497.38 million) หรือเทียบเท่า 604,720 บาท (US$15,118) ต่อเฮกตาร์ต่อปี
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อมูลค่าประโยชน์ของแนวปะการัง เกาะพีพี คือ ควรมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมค่าเข้า เกาะพีพี ในอัตรา 40 บาท (US$ 1) ต่อคนต่อครั้ง พร้อมกำหนดค่าธรรมเนียมการให้บริการพิเศษต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเปราะบาง เช่น ค่าธรรมเนียมการดำน้ำลึกเพื่อดูแนวปะการังที่อ่าวมายาในอัตรา 150 บาท (US$ 3.75) ต่อคนต่อครั้ง เป็นต้น การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นวิธีการหนึ่งในการถ่าย โอนการบริโภคส่วนเกินจาก high-end consumers ทำให้เกิดกำไรทางเศรษฐกิจโดยไม่ส่งผล กระทบต่อ low-income visitors และที่สำคัญยังเป็นการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่ เปราะบางอีกด้วย
3) การพยากรณ์การกัดเซาะชายฝั่ง และมูลค่าเชิงสันทนาการของชายหาดประเทศไทย
จากรายงานของ Saengsupavanich และคณะ ในปี ค.ศ. 2008 การวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศก่อนและหลังการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุดชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชายหาด และจากการใช้โปรแกรมสำเร็จรูป MIKE21 PMS และLITPACK ในการพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชายหาดน้ำรินจากการสร้างท่าเรือมาบตาพุดโดยสิ่งก่อสร้างที่ยื่นไปในทะเลเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางของคลื่นและลมนำมาซึ่งการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล พบว่า ชายหาดสาธารณะน้ำรินจะหายไปในอีก 5 ปี ข้างหน้า
จากนั้นนำข้อมูลการพยากรณ์ดังกล่าวมาประกอบการศึกษาประเมินมูลค่าของ ชายหาดน้ำรินขึ้นโดยวิธี single-bounded dichotomous choice contingent valuation method ทำการสัมภาษณ์ประชาชนถึงความเต็มใจที่จะบริจาคเพื่อร่วมกันรักษาชายหาดน้ำรินไว้ จากการวิเคราะห์แบบจำลอง logit และ probit พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อความเต็มใจที่จะบริจาค คือ ราคาที่เสนอ
ถ้าราคาเสนอยิ่งสูง โอกาสที่จะยินดีบริจาคลดลง ในขณะที่คนหนุ่มสาว คนที่มีระดับการศึกษาน้อย และคนที่มีรายได้สูง มีความยินดีที่จะบริจาคมากกว่า เป็นต้น
การคำนวณค่ามัธยฐานของมูลค่าความเต็มใจที่จะบริจาคในการร่วมกันรักษาชายหาดน้ำรินมีค่าเท่ากับ 867.5 บาทต่อปี (US$ 24.8) สำหรับมูลค่ารวมของชายหาดน้ำรินคำนวณจาก มูลค่าความเต็มใจที่จะบริจาค คูณด้วย จำนวนประชากรทั้ง หมดในอำเภอมาบตาพุด (36,528 คน) และบ้านฉาง (48,847 คน) มีค่าเท่ากับ 74 ล้านบาทต่อปี (US$ 2.11 million) ซึ่งนับเป็นมูลค่ารวมทั้งหมด (มูลค่าที่ได้ใช้ประโยชน์และยังไม่ได้ใช้ประโยชน์)
จากการสอบถามร้านค้าบริเวณชายหาด พบว่า ในวันธรรมดามีคนมาเที่ยวชายหาดประมาณ 150-200 คนต่อวัน และเสาร์อาทิตย์ประมาณ 500-700 ดังนั้น ในหนึ่งปีมีคนมาเที่ยวชายหาดน้ำริน 91,000 ครั้ง (หนึ่งคนมาเที่ยวชายหาด 36 ครั้ง ต่อปี) หรือเท่ากับ 2,528 คนต่อปี
คิดเป็น มูลค่าประโยชน์ของชายหาดน้ำริน (use value) ประมาณ 2.2 ล้านบาทต่อปี (US$ 63,000) ดังนั้น มูลค่า non-use ของชายหาดน้ำริน เท่ากับ 71.8 ล้านบาท (US$ 2.05 million) ดังนั้น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สามารถนำข้อมูลด้านมูลค่าประโยชน์ของ ชายหาดน้ำริน
จากการศึกษานี้ ซึ่งเทียบเท่ากับประโยชน์ในการปกป้องชายหาดน้ำริน มาประกอบการพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมในการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่เกิดจากท่าเรือมาบตาพุดต่อไป
4) การประเมินมูลค่าเศรษฐกิจรวมของทรัพยากร และระบบนิเวศปะการัง ป่าชายเลน และหญ้าทะเล
จากรายงานของโครงการการวิเคราะห์ความคุ้มค่าประเมินผลกระทบระบบนิเวศทางทะเลและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากร (อรพรรณ ณ บางช้าง ศรีเสาวลักษณ์, 2557) ซึ่งในการประเมินนั้นได้แบ่งมูลค่าเศรษฐกิจออกเป็น 2 ส่วน คือ มูลค่าการใช้ และมูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ แสดงดังรูปที่ 1
รูปที่ 1 มูลค่าเศรษฐกิจรวมของพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งรวมถึง ป่าชายเลน แนวหญ้าทะเล แนวปะการัง และ พื้นที่บริเวณปากอ่าว
จากการทบทวนในรายงาน สามารถสรุปมูลค่าเศรษฐกิจของระบบนิเวศป่าชายเลน ปะการัง และหญ้าทะเล ในตารางที่ 2 โดยมูลค่าของระบบนิเวศปะการัง หญ้าทะเล และป่าชายเลน ในเบื้องต้นใน พ.ศ. 2557 คำนวณได้เท่ากับ 912,958.68 ล้านบาท
ถ้าหากคิดไปอีก 20 ปี ในกรณีที่คุณภาพของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ประโยชน์ที่ได้ย่อมเกิดขึ้นต่อเนื่องไปในอนาคต จึงได้ตั้งสมมติฐานว่าหากไม่มีความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศป่าชายเลน หญ้าทะเล และปะการัง ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ในรูปของมูลค่าเศรษฐกิจเท่ากันทุกปี ต่อเนื่องไปในอนาคตจาก พ.ศ. 2557 ไปจนถึง พ.ศ. 2576
สมมติฐานอีกข้อหนึ่ง คือ มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ของสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์เป็นมูลค่าที่คงที่ในแต่ละปีและไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะเวลา 20 ปีเช่นเดียวกัน ในความเป็นจริงมูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้อาจจะเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากทัศนคติซึ่งขึ้นอยู่กับระดับรายได้ ข้อมูลข่าวสาร และที่สำคัญคือภาวะความเสี่ยงของการสูญพันธุ์ เช่น ถ้าจำนวนของพะยูนลดลงจนถึงขั้นวิกฤต ประชาชนอาจจะให้ความสนใจและความสำคัญมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมูลค่าของเงินในแต่ละปีไม่เท่ากันจึงต้องแปลงมูลค่าของแต่ละปีให้กลับมาเป็นมูลค่า พ.ศ. 2557 โดยใช้อัตราคิดลด (discount factor) ซึ่งจะใช้ในการปรับให้มูลค่าประจำปีเป็นมูลค่าปัจจุบันนั้นสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Social Rate of Time Preference โดยสังเขป การใช้อัตราคิดลดที่สูงสื่อความหมายว่าสังคมให้นํ้าหนักความสำคัญกับสวัสดิการของคนรุ่นปัจจุบันมากกว่าคนรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต และในทางตรงกันข้ามถ้าอัตราคิดลดตํ่าก็สื่อความหมายว่าสังคมให้นํ้าหนักความสำคัญกับสวัสดิการของคนรุ่นลูกรุ่นหลานในระดับหนึ่ง โดยทั่วไปหากเป็นโครงการทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมการปรับมูลค่าให้เป็นมูลค่าปัจจุบันมักจะใช้อัตราคิดลดที่ตํ่าเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงเจตนาที่จะให้เกิดความเสมอภาคระหว่างคนในยุคนี้และรุ่นลูกรุ่นหลาน การคำนวณในตารางที่ 2.2 ได้ใช้อัตราคิดลดร้อยละ 6 และมูลค่าเศรษฐกิจรวมสำหรับระยะเวลา 20 ปี ที่คำนวณไว้จะเท่ากับ 9,635,167 ล้านบาท หรือ 481,758 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ หากระบบนิเวศเสื่อมโทรมลงกระแสรายได้ที่คำนวณไว้ก็จะไม่เกิดขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากมีการดูแลรักษาและฟื้นฟูของสภาพระบบนิเวศทั้งสาม มูลค่าเศรษฐกิจประเภทต่าง ๆ ในแต่ละปีอาจจะเพิ่มขึ้นแทนที่จะเป็นมูลค่าคงที่ตามสมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณของตาราง
ตารางที่ 2 การประมาณการณ์มูลค่าเศรษฐกิจรวมของระบบนิเวศป่าชายเลน หญ้าทะเล และ
ปะการังระหว่าง พ.ศ. 2557 – 2576 คำนวณเป็นมูลค่าโดยใช้อัตราคิดลดร้อยละ 6
ประเภทมูลค่า |
มูลค่า (ล้านบาท) |
||
พ.ศ. 2557 |
พ.ศ. 2557-2576 |
เฉลี่ยต่อปี |
|
1. มูลค่าจากการใช้ (use value) 1.1 มูลค่าจากการประมง 1.2 มูลค่าจากการท่องเที่ยว 1.2.1 รายได้จากการท่องเที่ยว (รวมต่างชาติ) 1.2.2 รายได้จากการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติทางทะเล |
152,021.832.1
434,2582.2 1952.3 |
1,482,090
4,845,501 2,176 |
74,104
242,275 109 |
2. มูลค่าที่เกิดจากการใช้ทางอ้อม 2.1 ป่าชายเลน 2.1.1 ประโยชน์ในการดูซับและกักเก็บคาร์บอน 2.1.2 ประโยชน์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง 2.1.3 ประโยชน์ในการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลปลา 2.2 ปะการัง 2.2.1 คำนวณจากต้นทุนในการฟื้นฟูปะการัง 2.2.2 คำนวณจากต้นทุนสำหรับมาตรการในการ 2.3 หญ้าทะเล (ดูดซับและกักเก็บคาร์บอน) |
53,796.52.4 138,4022.5 19,3112.6
2,1742.7 30,2512.8
67,878.052.9 |
600,268 1,544,306 215,474
24,258 -
757,391 |
30,013 77,215 10,774
1,213 -
37,870 |
3. มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ (non-use value) 3.1 ป่าชายเลน 3.2 ปะการัง 3.3 หญ้าทะเล 3.4 มูลค่าสัตว์ทะเลหายาก 3.4.1 เต่าทะเล 3.4.2 โลมาอิรวดี 3.4.3 กระเบนราหู 3.4.4 ฉลามวาฬ |
- 1,764.52.10 5,5562.11
5,225.852.12 1,269.082.13 464.512.14 391.362.15 |
- 19,688 61,994
58,311 14,161 5,183 4,367 |
- 984 3,100
2,916 708 259 218 |
รวม |
912,958.68 |
9,635,167 |
481,758 |
หมายเหตุ :
1. ในระยะเวลา 20 ปี คำนวณเฉพาะต้นทุนการลงทุน (Capital Investment) ในปีแรก และไม่ได้คำนวณต้นทุนของการดูแลรักษา
2. ที่มาของข้อมูลในตารางมีดังต่อไปนี้
2.1 มูลค่าจากการประมง : กรมประมง
2.2 รายได้จาการท่องเที่ยว : กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา .สรุปสถานการณ์นักท่องเที่ยว มกราคม – กันยายน 2556 (จำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มกราคม – กันยายน 2556)
2.3 รายได้จากการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติทางทะเล : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
2.4. ประโยชน์ในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน : คำนวณโดยใช้มูลค่าของต้นทุนทางสังคมของคาร์บอน (Social Cost of Carbon) ใน พ.ศ. 2555 ซึ่งเท่ากับ 37 ดอลลาร์สหรัฐฯ / 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
2.5 ประโยชน์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และ ประโยชน์ในการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลปลา : ปรับจากข้อมูลของ Edward Barbier (2012)
2.6 ปะการัง คำนวณจากต้นทุนในการฟื้นฟูแนวปะการัง เกาะไม้ท่อน จังหวัดภูเก็ต และต้นทุนของมาตรการป้องกันการ
2.7 ปะการัง คำนวณจากต้นทุนสำหรับมาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
2.8 หญ้าทะเล (ประโยชน์จากการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน) : คำนวณเฉพาะประโยชน์ในด้านการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน โดยใช้มูลค่าของต้นทุนทางสังคมของคาร์บอน (Social Cost of Carbon) ของ พ.ศ. 2555
2.9 มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ ป่าชายเลน : ไม่ได้ประเมินมูลค่าเนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่นั้น ไม่เพียงพอสำหรับการประเมินมูลค่า
2.10 มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ ปะการัง : คำนวณจากมูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ ซึ่งเท่ากับ 759 บาท/ราย จากรายงานอรพรรณ ณ บางช้าง-ศรีเสาวลักษณ์ “การประเมินมูลค่าความเสียหายของระบบนิเวศปะการังจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ” กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กันยายน 2556 คูณด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาอุทยานแห่งชาติทางทะเลใน พ.ศ. 2556
2.11 มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ หญ้าทะเล : คำนวณโดยใช้ Benefit Transfer จากรายงานของ
อรพรรณ ณ บางช้าง-ศรีเสาวลักษณ์ “การศึกษาและวิเคราะห์ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของระบบนิเวศหญ้าทะเลเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการสร้างกลไกทางการเงินเพื่อการบริหารการจัดการอย่างยั่งยืน” กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ธันวาคม 2555
2.12 มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ เต่าทะเล : คำนวณโดยใช้ Benefit Transfer จากการศึกษาเรื่อง “Willingness to Pay for The Conservation of Endangered Species in Four Asian Countries” (Mobilizing Resources for Marine Turtle Conservation in Asia : A Cross-Country Perspective) Economy and Environment Program for Southeast Asia (2008)
2.13 มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ โลมาอิรวดี : คำนวณโดยใช้ Benefit Transfer จากรายงานของ
อรพรรณ ณ บางช้าง-ศรีเสาวลักษณ์ “การศึกษามูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของโลมาในประเทศไทย” กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 2552 ต่อ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
2.14 มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ กระเบนราหู : คำนวณโดยใช้ Benefit Transfer จากการศึกษาเรื่อง “Valuation Assessment of Icon Species in Lanta Marine National Park: Willingness to Pay for Conservation”. WWF Thailand Office. (2011).
2.15 มูลค่าที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ ฉลามวาฬ : คำนวณโดยใช้ Benefit Transfer จากการศึกษาเรื่อง “Valuation Assessment of Icon Species in Lanta Marine National Park: Willingness to Pay for Conservation”. WWF Thailand Office. (2011).
อย่างไรก็ตามการผลของการวิเคราะห์นั้นเป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อที่จะปรับปรุงฐานข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าเศรษฐกิจของทรัพยากรทะเลและชายฝั่งเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพยากรที่มีชีวิตซึ่งมีข้อจำกัดอยู่หลายด้าน เช่น ปัจจัยจำกัดจากงานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ปัจจัยจำกัดของฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านการประมง ด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับระบบนิเวศไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำมาประกอบการวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ได้ทันที จึงทำให้ต้องมีการตั้งสมมติฐานต่าง ๆ ในการประเมินที่อาจจะไม่สะท้อนให้เห็นความสลับซับซ้อนของกลไกระบบนิเวศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อเนื่องและช่วยเติมเต็มช่องว่างของข้อมูลและนำไปสู่การวิเคราะห์ที่แม่นยำมากขึ้นในอนาคต