อาณาเขตทางทะเล (Maritime Zone)
ประเทศไทยมีอาณาเขตทางทะเล (Maritime Zone) ตาม อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 เท่ากับ 323,488.32 ตารางกิโลเมตร (ตารางที่ 1 และ รูปที่ 2) ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 60 ของอาณาเขตทางบกที่มีเนื้อที่อยู่ประมาณ 513,115 ตารางกิโลเมตรโดยมีความยาวชายฝั่งทะเล ทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน รวมถึงช่องแคบมะละกาตอนเหนือ รวมความยาวชายฝั่งทะเลในประเทศไทยทั้งสิ้น 3,148.23 กิโลเมตร ครอบคลุม 23 จังหวัด
คนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากทะเลไม่เฉพาะแต่ในเขตทางทะเลของประเทศเราเองเท่านั้น หากยังสามารถใช้ทะเลไปถึงนอกเขตทางทะเลของประเทศด้วย เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากทะเลเป็นมาตรฐานเดียวกัน อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฏหมายทะเล ค.ศ. 1982[1] จึงได้กำหนดเขตน่านน้ำทางทะเลออกเป็น 6 เขต (รูปที่ 1) ได้แก่
รูปที่ 1 ภาพตัดขวางแสดงเขตทางทะเลตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982
(ดัดแปลงมาจาก http://pubs.rsc.org/en/Content/ArticleHtml/2014/NP/c3np70123a)
*หมายเหตุ: 1. บริเวณไหล่ทวีป มีระยะทางไม่เกิน 350 ไมล์ทะเล จากเส้นฐาน (baseline) หรือ เลยออกไปไม่เกิน 100 ไมล์ ทะเล จากเส้นชันความลึก (contouring) 2,500 เมตร
2. อำนาจอธิปไตย (Sovereign) หมายถึง ความเป็นอำนาจสูงสุดของรัฐ (Autonomous of State) ที่จะดำเนินกิจกรรมใดๆในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายในอาณาเขตแห่งรัฐ อันเป็นหลักการทางการเมืองซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ที่มีอยู่กับรัฐทุกรัฐอย่างเท่าเทียมกัน เกิดขึ้นและตั้งอยู่เป็นพื้นฐานของรัฐที่จะไปใช้อำนาจภายในและความสัมพันธ์กับรัฐอื่นซึ่งรวมถึงการใช้สิทธิอธิปไตยของรัฐนั้นๆ ด้วย (https://www.gotoknow.org/posts/38897)
3. สิทธิอธิปไตย (Sovereign right) หมายถึง สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของรัฐแต่ก็เป็นสิทธิสูงสุดที่ ครอบคลุมเป็นการเฉพาะเจาะจง เช่น สิทธิเหนือทรัพยากรแร่ธาตุ ความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุกรรมที่สำคัญเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของความตกลงร่วมกันของรัฐภาคีที่ใช้อำนาจอธิปไตย มีเป้าหมายสำคัญที่จะแสดง 1) รับรองสิทธิและอำนาจเหนือฐานทรัพยากรเฉพาะที่ระบุไว้ใน ความตกลง 2)เป็นหลักการทางกฎหมายที่จะไปสร้างข้อผูกพัน (Obligation) และหน้าที่ของรัฐ (Duty of State) ที่จะให้ความเคารพและยึดถือปฏิบัติในทางระหว่างประเทศ สิทธิอธิปไตยที่ว่านี้เป็นสิทธิที่รับรองให้แก่รัฐที่มีอำนาจอธิปไตยเพื่อเข้าไปบริหารจัดการให้อยู่ภายใต้เขตอำนาจแห่งรัฐ (National Jurisdiction) (https://www.gotoknow.org/posts/38897)
รูปที่ 2 แผนที่อาณาเขตทางทะเลของประเทศไทย
ตารางที่ 1 พื้นที่ของอาณาเขตทางทะเลของประเทศไทย [2]
เขตทางทะเล |
พื้นที่ (ตารางกิโลเมตร) | |
ฝั่งอ่าวไทย | ฝั่งอันดามัน และช่องแคบมะละกาตอนเหนือ | |
น่านน้ำภายใน | 54,103.47 | 7,850.57 |
ทะเลอาณาเขต | 29,344.36 | 23,723.86 |
เขตต่อเนื่อง | 23,909.18 | 13,604.04 |
เขตเศรษฐกิจจำเพาะ | 88,193.97 | 75,633.65 |
พื้นที่พัฒนาร่วม ไทย-มาเลเซีย (อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ) |
7,125.22 | |
รวม | 202,676.20 | 120,812.12 |
รวมเขตทะเลของประเทศไทย | 323,488.32 |
น่านน้ำภายใน (Internal Waters)
คือ น่านน้ำทางด้านแผ่นดินของเส้นฐาน (baselines) แห่งทะเลอาณาเขต (อนุสัญญาฯ ข้อ 8 วรรคหนึ่ง) เช่น อ่าว แม่น้ำ ปากแม่น้ำ ทะเลสาบ เป็นต้น ซึ่งรัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตย (sovereignty) เหนือน่านน้ำภายใน (อนุสัญญาฯ ข้อ 2) ในทำนองเดียวกับที่รัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน (territory) ดังนั้นหากเรือต่างชาติหรืออากาศยานต่างชาติจะผ่านเข้ามาในเขตน่านน้ำภายในของรัฐชายฝั่ง เรือต่างชาติ หรืออากาศยานต่างชาตินั้นจะต้องขออนุญาตรัฐชายฝั่งก่อน ได้แก่ พื้นที่ที่แสดงด้วยสีเขียวทั้งหมด ซึ่งอยู่ด้านในถัดจากเส้นฐานไปถึงฝั่ง มีอยู่ 5 บริเวณ ดังนี้
|
ทะเลอาณาเขต (Territorial Waters)
อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ได้กำหนดความกว้างของทะเลอาณาเขตว่าต้องไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลโดยวัดจากเส้นฐาน (baselines) ได้แก่ พื้นที่ที่แสดงด้วยสีเหลือง ซึ่งรัฐชายฝั่งเป็นผู้กำหนดตามหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตยเหนือทะเลอาณาเขตของตน ซึ่งหมายความรวมถึงอำนาจอธิปไตยในห้วงอากาศ (air space) เหนือทะเลอาณาเขต อำนาจอธิปไตยเหนือพื้นดินท้องทะเล (sea-bed) และดินใต้ผิวดิน (subsoil) แห่งทะเลอาณาเขตด้วย [อนุสัญญาฯ ข้อ 2 (1) และ (2)] โดยมีข้อยกเว้นในการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐชายฝั่งเหนือทะเลอาณาเขต คือ “การใช้สิทธิการผ่านโดยสุจริต” (right of innocent passage) ของเรือต่างชาติในทะเลอาณาเขตของรัฐชายฝั่ง (อนุสัญญาฯ ข้อ 17) ซึ่งการผ่านจะสุจริตนั้นจะต้องไม่เป็นการเสื่อมเสียต่อสันติภาพ ความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงต่อรัฐชายฝั่ง [อนุสัญญาฯ ข้อ 19(1)] |
เขตต่อเนื่อง (Contiguous Zone)
อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลปี ค.ศ. 1982 กำหนดให้เขตต่อเนื่องมิอาจขยายเกินกว่า 24 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน ซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต (อนุสัญญาฯ ข้อ 33 วรรคสอง) ได้แก่ พื้นที่ที่แสดงด้วยสีน้ำเงิน รัฐชายฝั่งอาจดำเนินการควบคุมที่จำเป็นเพื่อป้องกันการฝ่าฝืนกฎหมาย และข้อบังคับเกี่ยวกับศุลกากร (customs) การคลัง (fiscal) การเข้าเมือง (immigration) หรือการสุขาภิบาล (sanitation) ภายในอาณาเขต หรือทะเลอาณาเขตของตน และลงโทษการฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับดังกล่าวซึ่งได้กระทำภายในอาณาเขต หรือทะเลอาณาเขตของตน รัฐชายฝั่งมีหน้าที่ในการคุ้มครองวัตถุโบราณ หรือวัตถุทางประวัติศาสตร์ที่พบใต้ทะเลในเขตต่อเนื่อง |
เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zones)
คือ บริเวณที่ประชิดและอยู่เลยไปจากทะเลอาณาเขต โดยเขตเศรษฐกิจจำเพาะจะต้องไม่ขยายออกไปเกิน 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน ซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต (อนุสัญญาฯ ข้อ 55 และข้อ 57) ได้แก่ พื้นที่ที่แสดงด้วยสีฟ้าและสีม่วง รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยเพื่อความมุ่งประสงค์ในการสำรวจ (exploration) และการแสวงประโยชน์ (exploitation) การอนุรักษ์ (conservation) และการจัดการ (management) ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตในน้ำเหนือพื้นดินท้องทะเล (water superjacent to the sea-bed) และในพื้นดินท้องทะเล (sea-bed) กับดินใต้ผิวดิน (subsoil) ของพื้นดินท้องทะเลนั้น และมีสิทธิอธิปไตยในส่วนที่เกี่ยวกับกิจกรรมอื่นๆ เพื่อการแสวงประโยชน์ และการสำรวจทางเศรษฐกิจในเขต อาทิเช่น การผลิตพลังงานจากน้ำ (water) กระแสน้ำ (currents) และลม (winds) [อนุสัญญาฯ ข้อ 56 วรรคหนึ่ง(เอ)] รัฐชายฝั่งมีสิทธิแต่ผู้เดียว (exclusive rights) ในการสร้างหรืออนุญาตให้สร้าง และควบคุมการสร้างเกาะเทียม (artificial islands) สิ่งติดตั้ง (installations) และสิ่งก่อสร้าง (structures) เพื่อทำการสำรวจ และแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีชีวิตในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือควบคุมการใช้สิ่งติดตั้งหรือสิ่งก่อสร้างอันอาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิของรัฐชายฝั่งในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ โดยสิทธิและการปฏิบัติหน้าที่ของตนภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยเขตเศรษฐกิจจำเพาะ รัฐชายฝั่งจะต้องคำนึงตามควรถึงสิทธิและหน้าที่ของรัฐอื่นๆ และจะต้องปฏิบัติการในลักษณะที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ นี้ [อนุสัญญาฯ ข้อ 56(2)] รัฐอื่นๆ ย่อมมีเสรีภาพในการเดินเรือ (freedom of navigation) การบินผ่าน (freedom of over flight) การวางสายเคเบิลและท่อใต้ทะเล (freedom of the laying of submarine cables and pipelines) |
หมายถึง พื้นดินท้องทะเล (sea bed) และดินผิวใต้ดิน (subsoil) ของบริเวณใต้ทะเลซึ่งขยายเลยทะเลอาณาเขตของรัฐตลอดส่วนต่อออกไปตามธรรมชาติ (natural prolongation) ของดินแดนทางบกของตนจนถึงริมนอกของขอบทวีป (continental margin) มีระยะทางไม่เกิน 350 ไมล์ทะเล จากเส้นฐาน (baseline) หรือ เลยออกไปไม่เกิน 100 ไมล์ทะเล จากเส้นชันความลึก (contouring) 2,500 เมตร
สิทธิของรัฐชายฝั่งเหนือไหล่ทวีปนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการครอบครอง (occupation) ไม่ว่าอย่างแท้จริงหรือเพียงในนามหรือกับการประกาศอย่างชัดแจ้งใดๆ กล่าวคือ สิทธิของรัฐชายฝั่งเหนือเขตไหล่ทวีปนั้นเป็นสิทธิที่รัฐชายฝั่งมีอยู่แต่ดั้งเดิม (inherent rights) โดยไม่ต้องทำการประกาศเข้ายึดถือเอาแต่อย่างใด รัฐชายฝั่งได้สิทธิอธิปไตยดังกล่าวมาโดยอัตโนมัติ |
หมายถึง ทุกส่วนของทะเลซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone) ในทะเลอาณาเขต (territotial sea) หรือในน่านน้ำภายใน (internal water) ของรัฐ หรือในน่านน้ำหมู่เกาะ (archipelagic waters) ของรัฐหมู่เกาะ (อนุสัญญาฯ ข้อ 86) เป็นที่น่าสังเกตว่าห้วงน้ำ (water column) และผิวน้ำเหนือไหล่ทวีปที่อยู่นอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะยังคงเป็นเขตทะเลหลวง ถึงแม้ไหล่ทวีปและทรัพยากรบนไหล่ทวีปจะตกอยู่ภายใต้สิทธิอธิปไตย (sovereign rights) ของรัฐชายฝั่งก็ตาม ทะเลหลวงเปิดให้แก่รัฐทั้งปวง ไม่ว่ารัฐชายฝั่ง (coastal state) หรือรัฐไร้ฝั่งทะเล (landlocked states) เสรีภาพแห่งทะเลหลวงใช้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยอนุสัญญาฯ และหลักเกณฑ์อื่นๆ ของกฎหมายระหว่างประเทศ อาทิเช่น เสรีภาพในการเดินเรือ (freedom of navigation) เสรีภาพในการบินผ่าน (freedom of overflight) เสรีภาพในการทำประมง (freedom of fishing) โดยหน้าที่ประการสำคัญของรัฐต่างๆที่ทำการปรมงในทะเลหลวงคือ ต้องร่วมมือกันเพื่อกำหนดมาตรการในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรที่มีชีวิตในท้องทะเล |
หมายถึง พื้นทะเลก้นทะเล (seabed) และพื้นผิวดิน (subsoil) ซึ่งอยู่นอกเหนือเขตอำนาจของประเทศทรัพยากรในบริเวณดังกล่าวเป็นมรดกร่วมของมนุษยชาติ |
ที่มา :
[1] กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย. 2548. หนังสือแปล อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982, กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ, กรุงเทพฯ.
[2] กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. อาณาเขตทางทะเลไทย. http://marinegiscenter.dmcr.go.th/km/maritimezone_doc1/#.WOxRRGnygdV
Biodiversity. "Area (UNCLOS)". [ออนไลน์]. เข้าถึงจาก: http://biodiversitya-z.org/content/area-unclos. สืบค้นวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561