.

สื่อออนไลน์

Search this site

ลงทะเบียน

MKH Update

สถิติการเข้าชม


 

การประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

 

ประมงทะเล

การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง

 

ประมงทะเล

ความสำคัญของประมงทะเล

      ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาการประมงจนสามารถติดอันดับหนึ่งในสิบของโลกที่มีผลผลิตสูง และยังติดอันดับต้นๆ ของผู้ส่งออกสินค้าประมงมาตั้งแต่ปี 2535 โดยผลผลิตมวลรวมในสาขาประมงมีมูลค่า 98.9 พันล้านบาท คิดเป็น 11.87 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตมวลรวมของภาคเกษตร หรือร้อยละ 1.27 ของผลผลิตมวลรวมของประเทศ (ปี 2549)[1]ในปี 2551 ผลผลิตมวลรวมของประเทศของภาคประมงมีมูลค่า 105,977 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.2 ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือร้อยละ 10.0 ของผลผลิตมวลรวมของภาคเกษตร[9]

      กิจกรรมประมงเกี่ยวข้องกับคนไทยจำนวนมากในหลายกิจกรรมโดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งหรือบริเวณใกล้เคียง นับเป็นหมู่บ้านได้มากกว่า 2,000 หมู่บ้าน มีครัวเรือนที่ทำประมงทะเลตามข้อมูลของสำมะโนประมงทะเล ปี 2543 จำนวน 55,981 ครัวเรือน[2]  และมีตลาดแรงงานรองรับซึ่งสำรวจในปี 2543 ถึง 826,657 คน โดยอยู่ในภาคของประมงทะเล 161,670 คน เป็นผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง 77,870 คน อยู่ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับการประมง 183,100 คน ที่เหลืออยู่ในภาคของผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด[3] 

      ผลผลิตการประมงทะเลในปี 2538-2547 ตามสถิติของกรมประมง[4] อยู่ระหว่าง 2.6-2.8 ล้านตัน ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ได้จากการทำประมงทะเลด้วยเครื่องมือทำการประมงที่มีประสิทธิภาพ เช่น อวนลอย อวนรุน อวนลาก อวนล้อม เบ็ดราว เป็นต้น ที่ประกอบอยู่กับเรือประมงจำนวนไม่น้อยกว่า 16,432 ลำ ในพื้นที่ทำการประมงในอาณาเขตประเทศไทย 6 แห่ง ได้แก่ อ่าวไทยฝั่งตะวันออก อ่าวไทยตอนใน อ่าวไทยฝั่งตะวันตกตอนบน อ่าวไทยฝั่งตะวันตกตอนล่าง อ่าวไทยตอนกลาง และฝั่งทะเลอันดามัน  รวมทั้งการทำประมงนอกน่านน้ำในประเทศเพื่อนบ้าน และการทำประมงในทะเลหลวงด้วย ผลผลิตการประมงส่วนหนึ่งได้นำมาใช้บริโภคเป็นอาหารโปรตีนที่สำคัญสำหรับคนในประเทศ ซึ่งปริมาณการบริโภคสัตว์น้ำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ระหว่าง 25-30 กิโลกรัม/คน/ปี ผลผลิตอีกส่วนถูกส่งออกขายสู่ตลาดโลกนำเงินตราเข้าสู่ประเทศ โดยในปี 2549 ประเทศไทยได้ดุลการค้าสัตว์น้ำทั้งหมด 154,151.9 ล้านบาท[5]

 

แผนที่ความหนาแน่นของครัวเรือนเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พ.ศ. 2543

ที่มา: สนิท อักษรแก้ว. ประชากรและทรัพยากรชายฝั่งทะเล. วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ทุนเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2545.

 

การพัฒนาของการประมงทะเลไทย

      พัฒนาการของการประมงทะเลไทยมีมาช้านาน โดยในรายงานสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล่มที่ 6 ด้านการประมง ของโครงการ UNEP[6] ก็ได้แบ่งช่วงการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ยุคก่อนปี  2503 ถือได้ว่าเป็นช่วงการเริ่มต้นพัฒนาการประมงทะเล เครื่องมือประมงที่ใช้ในยุคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้าน และใช้เรือประมงขนาดเล็กไม่มีเครื่องยนต์ ต่อมาได้มีการพัฒนาเครื่องมือและดัดแปลงเรือประมงให้มีความเหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจับปลาผิวน้ำให้ดียิ่งขึ้น โดยการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ในช่วงนี้ได้รับจากประเทศญี่ปุ่น ผลผลิตสัตว์น้ำในช่วงนี้มีปริมาณระหว่าง 150,000 – 230,000 ตันต่อปี สัตว์น้ำที่จับได้ส่วนใหญ่เป็นปลาผิวน้ำ เช่น ปลาทู ปลาลัง ปลาหลังเขียว และปลากะตัก สำหรับใช้บริโภคภายในประเทศเกือบทั้งหมด

ยุคระหว่างปี 2503–2523 มีการขยายตัวด้านการประมงทะเลอย่างรวดเร็วโดยมีปัจจัยสำคัญที่เป็นสิ่งจูงใจ ประกอบด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมือประมง เช่น อวนไนล่อนสำหรับใช้ในการประมงพื้นบ้าน อวนลากเพื่อใช้สำหรับการประมงพาณิชย์ มาแนะนำและส่งเสริมแก่ชาวประมง การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเรือประมง จากเรือไม่มีเครื่องยนต์มาเป็นเรือที่ใช้เครื่องยนต์ การสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาแล้วและจากองค์กรระหว่างประเทศ การลงทุน รวมทั้งการสนับสนุนด้านการเงินจากประเทศอุตสาหกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงงานผลิตน้ำแข็ง โรงงานห้องเย็น และโรงงานแปรรูปสินค้าสัตว์น้ำ การสำรวจแหล่งประมงใหม่โดยภาครัฐ เช่น แหล่งทำประมงในทะเลจีนตอนใต้  และนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนการพัฒนาประมงนอกชายฝั่งหรือประมงทะเลลึก ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้การประมงทะเลของไทยสามารถเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำจาก 150,000 ตันในปี 2503 เป็นมากกว่า 2 ล้านตัน ในปี 2520 จนติดอันดับหนึ่งในสิบของประเทศที่มีปริมาณการจับสัตว์น้ำสูงของโลก แม้ในบางปีจะมีวิกฤติการณ์น้ำมันเข้ามาส่งผลประทบในบางช่วงก็ตาม

ยุคหลังปี  2523 – ปัจจุบัน ผลผลิตโดยรวมจากการประมงยังคงเพิ่มขึ้น ผลผลิตส่วนใหญ่ยังคงมาจากการประมงในอ่าวไทย แต่เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากการพัฒนาการประมงของไทยตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นการพัฒนาที่ขาดยุทธศาสตร์การควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ทำให้มีการทำการประมงเกินกว่าสภาพสมดุลทางชีววิทยาในอ่าวไทย ผลผลิตสัตว์น้ำในอ่าวไทยมีปริมาณการจับต่อหน่วยลงแรงประมงลดลงอย่างต่อเนื่องคือลดลงจาก 293.9225 กิโลกรัมต่อชั่วโมงการลากอวนในปัจจุบัน

แม้ในช่วงระยะเวลานี้มีการดำเนินการบริหารจัดการการทำประมงโดยการใช้มาตรการอนุรักษ์ต่างๆ มากขึ้น แต่ทรัพยากรประมงก็ยังไม่เพียงพอต่อการทำประมงของคนไทย จึงทำให้กองเรือประมงของไทยต้องเคลื่อนย้ายไปทำการประมงในแหล่งประมงที่ห่างไกลมากขึ้น เช่น ทะเลจีนตอนใต้ มหาสมุทรอินเดีย หรือเขตทะเลอื่นๆ เป็นต้น ต่อมาเมื่อมีการจัดทำกฎหมายทะเลระหว่างประเทศขึ้น ประเทศเพื่อนบ้านได้ประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล ซึ่งส่งผลให้กองเรือประมงไทยสูญเสียพื้นที่ทำการประมงไปถึง 300,000 ตารางไมล์โดยประมาณ ผลผลิตการประมงในส่วนนี้ก็ลดลงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับผลผลิตในปี 2520[1] กองเรือประมงไทยต้องถูกสถานการณ์บังคับให้กลับมาทำการประมงเฉพาะในน่านน้ำไทย แต่ก็ยังมีกองเรือประมงจำนวนหนึ่ง ยังคงสามารถทำการประมงอยู่ในน่านน้ำต่างประเทศ ภายหลังจากการเจรจากับต่างประเทศ

 

รูปที่ 1 ปริมาณและมูลค่าของการจับสัตว์น้ำเค็มของประเทศไทยในปี 2495-2547 

      ผลผลิตประมงทะเลของไทยมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงตั้งแต่ปี 2503 ผลผลิตประมงทะเลไทยเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาด้านเครื่องมือและอุปกรณ์การจับปลา เช่น ใช้อวนลอย อวนรุน และอวนจับหมึก ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการจับสัตว์ทะเลได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มจำนวนเรือประมงที่ติดอุปกรณ์ทันสมัย มาถึงช่วงปี 2523 ด้วยศักยภาพกองเรือประมงไทยทำให้สามารถขยายอาณาเขตการประมงไปได้ระยะไกล มีผลผลิตสัตว์น้ำที่มาจากทะเลนอกอาณาเขตน่านน้ำไทยมากขึ้น จัดเป็นยุคที่การประมงทะเลมีความเฟื่องฟูอย่างมากจนกระทั่งมีกฎหมายทะเล ผลผลิตสัตว์น้ำจากการทำประมงของไทยจึงค่อยชะลอตัว ดังปรากฏในรูปที่ 1

vol+val

รูปที่ 2 ปริมาณและมูลค่าของการจับสัตว์น้ำเค็มของประเทศไทยในปี 2532 - 2551

 ที่มา : กรมประมง. 2551. สถิติการประมงแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 เอกสารฉบับที่ 12/2553. ศูนย์สารสนเทศ กรมประมง

 

รูปที่ 3 ปริมาณและมูลค่าของการจับสัตว์น้ำเค็มของประเทศไทยในปี 2551 - 2558 

      ผลผลิตการประมงมีแแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา (รูปที่ 2 และ 3) จากปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรประมงในน่านน้ำไทยทำให้จับสัตว์น้ำได้น้อยลง โดยในปี 2551 สามารถจับสัตว์น้ำได้ 1,644,800 ตัน ลดลงร้อยละ 20 ของปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ในปี 2550 และปี 2558 สามารถจับสัตว์น้ำได้เพียง 1,317,200 ตัน ลดลงจากปี 2550 ประมาณ ร้อยละ 36 

 

การประมงชายฝั่งหรือประมงพื้นบ้าน

      ประมงชายฝั่ง (Inshore Fisheries) หรือประมงพื้นบ้าน (Artisanal Fisheries) คือ การประมงเพื่อยังชีพหรือประมงขนาดเล็ก โดยทั่วไปใช้เรือขนาดเล็ก เช่น เรือพื้นบ้าน เป็นต้น ปัจจุบันส่วนใหญ่จะติดเครื่องยนต์เข้าไปด้วย ทำการประมงโดยใช้เครื่องมือประมง เช่น แหหรือเบ็ดแบบง่ายๆ  ประมงพื้นบ้านเป็นการประมงเพื่อยังชีพ หาอาหาร สร้างรายได้ และก่อให้เกิดการสร้างงานในท้องถิ่น ซึ่งปริมาณการจับสัตว์น้ำจากการทำประมงพื้นบ้านคิดเป็นร้อยละ 10 จากปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำจากการประมงทะเลทั้งหมด[1]

      การบริหารจัดการประมงชายฝั่งโดยภาครัฐ จากการที่ชาวประมงทะเลพื้นบ้านส่วนใหญ่ยังมีฐานะความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ด้อยกว่าชนกลุ่มอื่น รัฐบาลจึงมีนโยบายช่วยเหลือและพัฒนาโดยเริ่มจากการจัดตั้งองค์การสะพานปลาขึ้นตามพระราชบัญญัติแพปลา พ.ศ. 2496 และได้กำหนดหน้าที่ที่สำคัญไว้ คือ ส่งเสริมฐานะ สวัสดิการ หรืออาชีพการประมงและบูรณะหมู่บ้านประมง โดยองค์การสะพานปลาดำเนินการจัดระบบการตลาด ทำถนน สร้างสะพาน ท่าเทียบเรือ ต่อมากรมประมงได้เริ่มโครงการประมงสงเคราะห์เพื่อให้ชาวประมงกู้เงินไปลงทุน ตั้งแต่ปี 2503 ในปัจจุบันกรมประมงยังคงมีโครงการเงินกู้เพื่อประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการประมงทะเล

      ปี 2522 กรมประมงร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จัดตั้งโครงการพัฒนาประมงขนาดเล็กขึ้นที่จังหวัดพังงา ในปี 2526 คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ให้ทุนแก่กรมประมงมาดำเนินโครงการประมงหมู่บ้านภาคใต้ในเขตชนบทพื้นที่ยากจน และโครงการพัฒนาประมงทะเลพื้นบ้าน ต่อมาทั้งสองโครงการได้รวมกันเป็นโครงการพัฒนาประมงทะเลชายฝั่งพื้นบ้าน มีกิจกรรมการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน การพัฒนาอาชีพ การจัดตั้งสหกรณ์การประมง การจัดการประมงชายฝั่ง การแปรรูปสัตว์น้ำและโภชนาการ ตลอดจนฝึกอบรมให้ประชาชนริมฝั่งทะเลประกอบอาชีพประมงและอาชีพต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด[1]

 

การประมงพาณิชย์

      การทำการประมงพาณิชย์ (Commercial Fisheries) ไม่ใช่การประมงเพื่อยังชีพ ส่วนใหญ่ธุรกิจประมงแบบนี้จะผูกพันกับกองเรือประมงที่จับปลาโดยใช้อวนลาก เบ็ดราวทะเลลึก หรืออวนลอย โดยทั่วไปเจ้าของเรือจะเป็นผู้ดำเนินการเอง สัตว์น้ำที่ได้จะขายทั้งในท้องถิ่นหรือตลาดค้าสัตว์น้ำ ในประมงพาณิชย์จึงประกอบไปด้วย "ประมงน้ำลึก" (Deep Sea Fisheries) คือ การจับปลาในระยะห่างจากฝั่งแต่ไม่เกินระยะ 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง และ "ประมงสากล" (Distant Water Fisheries) คือ การจับปลาในมหาสมุทรเป็นระยะทางไกลจากท่าเรือของประเทศนั้นๆ[1]

 

ประมงพาณิชย์ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ    

      แหล่งทำการประมงทะเลของไทยในเขตเศรษฐกิจจำเพาะมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 368,280 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ทำการประมงในอ่าวไทยประมาณ 252,000 ตารางกิโลเมตร และฝั่งทะเลอันดามัน 116,280 ตารางกิโลเมตร จากปริมาณสัตว์น้ำจากการประมงทะเลมีผลผลิตจากการประมงพาณิชย์คิดเป็นร้อยละ 90 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2538-2547)

       สถานการณ์การประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย

(1) ทรัพยากรสัตว์น้ำทะเลเสื่อมโทรม สาเหตุของการเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำเกิดได้ทั้งจากธรรมชาติ และจากการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ โดยการเสื่อมโทรมตามธรรมชาติ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำ การพังทลายของดินตามชายฝั่งทะเล การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำในทะเล และการเกิดคลื่นลมอย่างรุนแรง สาเหตุตามธรรมชาติเหล่านี้ส่งผลต่อแหล่งวางไข่ แหล่งที่อยู่อาศัย ขบวนการห่วงโซ่อาหาร ซึ่งทำให้การดำรงชีวิตของสัตว์น้ำเปลี่ยนแปลงไป ส่วนสาเหตุที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ได้แก่ การทำประมงมากเกินไป ดังจะเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเรือประมง ประสิทธิภาพของเรือประมงและ เครื่องมือประมงมีมากกว่าจำนวนทรัพยากรในธรรมชาติจะอำนวยให้ เนื่องมาจากการทำประมงทะเลให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง จึงมีผู้สนใจเข้ามาลงทุนประกอบอาชีพนี้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการฝ่าฝืนมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดขาดการประสานงานของภาครัฐ
      
(2) แหล่งทำการประมงลดลง ระบบกฎหมายแนวใหม่ที่มีการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone: EEZ) มีผลกระทบต่อบริเวณการทำประมงของไทย จากที่เคยทำประมงอยู่ในอ่าวไทย ทะเลอันดามัน ทะเลจีนใต้ และอ่าวเบงกอล ภายหลังที่ประเทศเพื่อนบ้านยอมรับแนวกฎหมายใหม่และประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศตน บริเวณการทำประมงของไทยถูกจำกัดอยู่แค่เฉพาะในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ปัญหาที่ตามมาคือ เรือประมงบางส่วนกลับเข้ามาทำประมงในเขตน่านน้ำไทยซึ่งทรัพยากรลดจำนวนลง ผลผลิตที่ได้ไม่คุ้มกับการลงทุน และเรือประมงบางส่วนลักลอบจับสัตว์น้ำในเขตน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน เสี่ยงต่อการถูกจับกุม และอาจเสียทรัพย์สินหรือชีวิต และส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
 
(3) ปัจจัยการผลิตมีราคาสูงและขาดแคลน ค่าใช้จ่ายของการทำประมงโดยเฉพาะเรืออวนลากคิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณร้อยละ 40-60 ของต้นทุนทั้งหมดในการทำประมง ซึ่งในภาวะที่ราคาน้ำมันแพง เรือประมงเหล่านี้จึงได้รับผลกระทบทำให้เรือประมงจำนวนมากต้องหยุดการทำประมงหรือลดจำนวนเที่ยวที่ออกทำการประมงลง ปัญหาที่ตามมาคือ การว่างงาน การขาดเสถียรภาพของรายได้ ทั้งยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ และโรงน้ำแข็ง อีกด้วย นอกจากนี้ การขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาใหญ่ของการประมงพาณิชย์ในปัจจุบัน เนื่องจากกิจการประมงต้องใช้แรงงานจำนวนมาก แต่ผลตอบแทนไม่มากเหมือนในอดีต ทำให้หาลูกเรือยาก ยิ่งต้องออกไปทำประมงไกลๆ มีความเสี่ยงภัย ทำให้คนไทยไม่นิยมทำงานในเรือประมง ลูกเรือประมงไทยส่วนใหญ่จะใช้ลูกเรือเป็นชาวต่างด้าว

(4) ราคาสัตว์น้ำตกต่ำ 
การนำเข้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศที่มีคุณภาพดีและราคาเปรียบเทียบต่ำกว่า ทำให้ราคาสัตว์น้ำจากการประมงภายในประเทศสู้ไม่ได้
 
 
ประมงพาณิชย์นอกน่านน้ำ
     
      จากพัฒนาการด้านเทคโนโลยีการประมง ทั้งในเรื่องความรู้และอุปกรณ์เครื่องมือสำรวจต่างๆ ที่ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้สามารถบุกเบิกและสำรวจค้นหาแหล่งทำประมงใหม่ๆ เช่น แหลมญวน ทะเลจีนใต้ อ่าวบอร์เนียว อ่าวเมาะตะมะ และอ่าวเบงกอล ทำให้อุตสาหกรรมการประมงไทยมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผลผลิตสัตว์น้ำทะเลของไทยเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยถูกจับเพิ่มขึ้นจนเกินศักยภาพการผลิต ชาวประมงเริ่มรู้สึกว่าการจับสัตว์น้ำในอ่าวไทยในแต่ละเที่ยวได้ปริมาณสัตว์น้ำน้อยลง ต้องใช้ระยะเวลาในการทำประมงนานขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการทำประมงของชาวประมงสูงขึ้น แต่ผลตอบแทนลดต่ำลง ชาวประมงประสบภาวะขาดทุน เพื่อความอยู่รอดชาวประมงส่วนหนึ่งจึงต้องดิ้นรนเพื่อนำเรือออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำ
 
การประมงนอกน่านน้ำนั้นมี 2 ลักษณะ คือ

1) การทำประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่ง ส่วนใหญ่เป็นแหล่งประมงในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงและบางแหล่งเป็นแหล่งประมง ที่กองเรือประมงไทยเคยทำการประมงมาก่อนที่จะมีการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งนั้นๆ รูปแบบของการเข้าทำประมงในน่านน้ำต่างประเทศของเรือประมงไทยมี 4 รูป แบบ คือ  1.การได้รับสิทธิทำประมงจากรัฐบาลของประเทศที่จะเข้าไปทำการประมง  2.การร่วมทุน (Joint Venture) กับบริษัทภายในประเทศที่จะเข้าไปทำการประมง  3.บริษัทภายในของต่างประเทศเช่าเรือประมงไทยเข้าไปทำการประมงในน่านน้ำของตน และ  4.เรือประมงไทยซื้อตั๋วจากบริษัทชาวประมงในท้องที่เพื่อเข้าไปทำการประมงเฉพาะบริเวณ 

แนวโน้มการทำประมงในน่านน้ำต่างประเทศไม่น่าจะมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเทศเจ้าของทรัพยากรหลายประเทศเริ่มมีนโยบายไม่อนุญาตให้เรือประมงต่างชาติเข้าไปทำการประมงในเขตน่านน้ำของตน หรือที่ได้รับอนุญาตก็ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เคร่งครัด

2) การทำประมงในทะเลหลวง ซึ่งเป็นแหล่งประมงที่ไม่ได้ขึ้นกับรัฐชายฝั่งใดๆ  ประเทศไทยเริ่มออกทำการประมงในทะเลหลวงในปี 2541 บริเวณมหาสมุทรอินเดียด้วยเรืออวนล้อมขนาดใหญ่ และปีต่อมามีเรือจับปลาทูน่าของประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยมีทั้งเรืออวนล้อม และเรือเบ็ดราว ต่อมาในปี 2545 เรือประมงดังกล่าวได้ยุติการทำประมงเนื่องจากไม่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินการ อย่างไรก็ตามในปี 2548 กองเรืออวนล้อมจับปลาทูน่าของประเทศไทยก็ได้เข้าไปทำประมงในทะเลหลวงบริเวณมหาสมุทรอินเดียอีกครั้ง และในปี 2549 มีเรือประมงไทยจำนวน 12 ลำ เป็นเรืออวนล้อมขนาดใหญ่จำนวน 6 ลำ และเรือเบ็ดราว 6 ลำ

      ปัจจุบัน การทำประมงในเขตทะเลหลวงของประเทศไทยยังมีไม่มากนัก เนื่องจากข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน ซึ่งแหล่งทำการประมงที่สำคัญ ได้แก่ มหาสมุทรอินเดีย สัตว์น้ำเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการทำประมงทูน่าก็มีความแตกต่างกัน โดยอวนล้อมปลาทูน่าเน้นการจับปลาทูน่าท้องแถบ ทูน่าตาโต และทูน่าครีบเหลือง เพื่อป้อนโรงงานปลากระป๋อง ในขณะที่เบ็ดราวปลาทูน่า เน้นการจับปลาทูน่าครีบเหลือง ทูน่าครีบยาว ทูน่าครีบน้ำเงิน และทูน่าตาโต เพื่อนำไปใช้บริโภคสด

 
รูปที่ 3 ปริมาณการจับสัตว์น้ำเค็มใน-นอกน่านน้ำไทย ประมาณการ ปี 2538-2550
 
 
      สถิติของกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์สถิติการประมง ศูนย์สารสนเทศ กรมประมง รายงานไว้ว่าปริมาณสัตว์น้ำจากการทำประมงนอกน่านน้ำโดยเฉพาะในเขตรัฐชายฝั่ง ในปี 2538 มีประมาณ 9 แสนกว่าตัน คิดเป็น 31.98 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการจับสัตว์น้ำรวมในและนอกน่านน้ำของประเทศ และสามารถจับได้เพิ่มมากขึ้นทุกปีจนในปี 2547 สามารถจับสัตว์น้ำจากการทำประมงนอกน่านน้ำได้ถึง 1.1 ล้านตัน คิดเป็น 43.51 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการจับสัตว์น้ำรวมในและนอกน่านน้ำของประเทศไทย (รูปทีึ่ 3)
 
       ในขณะที่การทำประมงในน่านน้ำสากลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำประมงทูน่าได้ผลผลิต ปลาทูน่าประมาณปีละ 30,000 ตัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลผลิตจากการทำประมงนอกน่านน้ำในภาพรวม มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจนเกือบถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณการจับสัตว์น้ำรวมในและนอกน่านน้ำทั้งหมด แสดงถึงศักยภาพการทำประมงของไทยที่มีการพัฒนาทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือการทำประมง และเทคนิควิธีการทำประมงมาเป็นเวลานานจนมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งถ้าหากกองเรือประมงไทยสามารถขยายเขตการประมงเพิ่มขึ้นได้ ปริมาณการจับสัตว์น้ำก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่ผลผลิตจากการประมงในน่านน้ำมีแนวโน้มลดปริมาณลง ทั้งนี้เนื่องจากทรัพยากรสัตว์น้ำในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทยเริ่มลดจำนวนลงนั่นเอง โดยแนวโน้มของการจับสัตว์น้ำทั้งในและนอกน่านน้ำไทยได้แสดงไว้ตามรูปที่ 3
 
ปัญหาการทำประมงนอกน่านน้ำ
 
      กองประมงต่างประเทศ กรมประมง ได้สรุปปัญหาการทำประมงนอกน่านน้ำของประเทศไทย ซึ่งเป็นปัญหาของการทำประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่
  1. ความไม่เป็นเอกภาพของผู้ประกอบการประมงไทย การออกไปทำประมงนอกน่านน้ำ กระทำในลักษณะต่างคนต่างไป และแย่งกันเสนอผลประโยชน์หรือยอมรับเงื่อนไขที่ประเทศเจ้าของทรัพยากรกำหนด โดยไม่คำนึงว่าจะปฏิบัติตามได้หรือไม่ เพราะต่างมุ่งหวังที่จะได้สัมปทานในการจับสัตว์น้ำเท่านั้น กองเรือประมงไทยจึงอยู่ในฐานะผู้ตั้งรับในการเจรจาต่อรอง
  2. ไม่มีองค์กรใดที่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการทำประมงของกองเรือประมงไทย กลุ่มชาวประมงยังขาดการประสานงานที่ดีในการเจรจาทางการประมงร่วมกับรัฐชายฝั่ง ทำให้เรือประมงบางกลุ่มละเมิดข้อตกลงที่ทำไว้กับประเทศเจ้าของแหล่งทำการประมง
  3. ประเทศต่างๆ ได้กำหนดนโยบายที่ชัดเจนว่า จะยุติการให้สัมปทานการทำประมง แต่จะส่งเสริมให้มีการทำการประมงแบบร่วมทุน เพื่อให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมประมงในประเทศของตน สัตว์น้ำที่จับได้ต้องนำขึ้นท่าในประเทศ เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องแล้วจึงส่งออกมายังประเทศไทย ซึ่งลักษณะการลงทุนแบบนี้ผู้ประกอบการประมงของไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อม
  4. มาตรฐานกองเรือประมงไทยต่ำกว่าที่สากลกำหนด ทั้งในส่วนของภาชนะบรรจุปลาและสุขลักษณะของลูกเรือประมง นอกจากนี้ยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เช่น ท่าเทียบเรือประมงน้ำลึก และการบริหารจัดการท่าเรือประมง ซึ่งในอนาคตสิ่งเหล่านี้จะถูกนำมาใช้สำหรับการกีดกันทางการค้าในตลาดโลก ทำให้สัตว์น้ำที่จับได้โดยเรือประมงไทยอาจมีปัญหาในการจำหน่าย
  5. ประเทศไทยยังขาดมาตรการที่รัดกุมและเหมาะสมในการป้องกันไม่ให้เกิดการลักลอบทำการประมงในต่างประเทศ
  6. เรือประมงไทยส่วนหนึ่งยังคงลักลอบทำการประมงในต่างประเทศ และถูกจับกุม นอกจากนี้บางส่วนยังละเมิดระเบียบ ข้อบังคับ ตามสัญญาการทำประมง/การร่วมทุน ทำให้มีผลต่อความเชื่อถือต่อประเทศเจ้าของน่านน้ำ/ผู้ให้ร่วมทุน
  7. นโยบายและเงื่อนไขในการอนุญาตให้เรือประมงต่างชาติไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ
  8. มีความเสี่ยงในการลงทุน เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศและระหว่างประเทศ และเมื่อผู้ประกอบการขาดความมั่นใจในการลงทุน ทำให้การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี วิธีการทำประมงการพัฒนาเรือ เครื่องมือ อุปกรณ์ ที่ใช้ประกอบการเดินเรือและการทำประมงไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
  
การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง

      การประมงในอดีตนับตั้งแต่เริ่มมีการจัดตั้งกรมรักษาสัตว์น้ำขึ้นในปี 2469 จนถึงช่วงก่อนที่จะมีการจัดทำแบบพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นในปี 2504 ส่วนใหญ่เน้นไปในด้านการประมงน้ำจืด ทั้งยังมีจุดประสงค์ที่จะบำรุงรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในช่วงนี้ยังไม่มีบทบาทสำคัญในทางเศรษฐกิจ
 
      ปี 2492 มีการจัดตั้งสถานีประมงน้ำกร่อยขึ้นที่ ตำบลคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การพัฒนาการเพาะเลี้ยงเริ่มเด่นชัดขึ้นในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 และ 2 ช่วงปี 2504-2514 ได้มีการศึกษาชีวประวัติของสัตว์น้ำกร่อยหลายชนิด มีการรวบรวมลูกพันธุ์ปลาทะเลมาทดลองเลี้ยงและส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงปลาใน กระชัง ทำให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้เพิ่มมากขึ้น ต่อมากรมประมงได้ทดลองศึกษา ค้นคว้าเทคนิค และวิธีการใหม่ๆ รวมทั้งสำรวจแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพื่อขยายขอบเขตการเพาะเลี้ยง ปรับปรุงแหล่งน้ำและพันธุ์สัตว์น้ำ ให้มีการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมถาวรตลอดไป โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งแถบทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย
 
      ในช่วงปี 2520-2529 การพัฒนาประมงทะเลมีความก้าวหน้าจนทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติลดน้อยลง กรมประมงจึงกำหนดนโยบายที่จะเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงให้มากขึ้น ปัจจุบันพื้นที่บริเวณชายฝั่งที่คาดว่ามีศักยภาพในการประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีประมาณกว่า 6 ล้านไร่  การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ชายฝั่งหรือน้ำกร่อยส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงเพื่อยังชีพหรือตามวิถีพื้นบ้าน ลักษณะการเลี้ยงมีหลากหลายรูปแบบตามแนวคิดของแต่ละถิ่น เช่น ใช้ไม้ไผ่ปัก กั้นคอก เลี้ยงหอยชนิดต่างๆ จนปัจจุบันมีการพัฒนามาใช้การเลี้ยงแบบหนาแน่นในบ่อดิน (Intensive Culture Technologies) จนประสบความสำเร็จมากในด้านรายได้ ซึ่งเน้นการผลิตปริมาณมากเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ชนิดสัตว์น้ำที่มีการเพาะเลี้ยงกันมากได้แก่ กุ้งกุลาดำ กุ้งขาว หอยแครง หอยแมลงภู่ หอยนางรม และปูทะเล ส่วนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มอื่นๆ รวมทั้งสาหร่ายในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิต แต่ก็มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ต่อไป
 
     ปัจจุบัน การเพาะเลี้ยงมีความสำคัญสำหรับประเทศไทยเนื่องจากเป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำทดแทนสัตว์น้ำทะเลที่มีแนวโน้มลดลง ที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างต่อเนื่องและสามารถตรวจสอบระบบการผลิตย้อนกลับได้ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตสัตว์น้ำเป็นสินค้าส่งออกที่มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ ชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงสามารถเลือกได้ตามที่ตลาดมีความต้องการ ทำให้ขายได้ราคา มีส่วนช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพราะสามารถป้อนผลผลิตเข้าสู่ระบบได้อย่างต่อเนื่องและคงที่  เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนชายฝั่งและธุรกิจเกษตร อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยจำกัดที่ทำให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยยังไม่พัฒนาเท่าที่ควรได้แก่ ด้านต้นทุนการผลิต ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม และด้านเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมามีจำกัดอยู่เพียงบางชนิดของสัตว์น้ำเช่น กุ้ง เท่านั้น           

 

สถานการณ์และปัญหาในปัจจุบันของการเพาะเลี้ยง

      ปี 2547 ประเทศไทยมีผลผลิตสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่ในอันดับ 4 ของโลก ปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำรวมทั้งสิ้น 1,172 พันตัน คิดเป็นมูลค่า 64.5 ล้านบาท[7] (1.6 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (US$))[8] กว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตสัตว์น้ำมาจากการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง จำนวน 736.3 พันตัน คิดเป็นมูลค่า 49,250.1 ล้านบาท โดยกุ้งเป็นสัตว์น้ำที่มีการเลี้ยงและทำผลผลิตได้มากที่สุดคิดเป็น 49 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมดที่มีการเพาะเลี้ยง  ผลผลิตสัตว์น้ำที่ได้มีการใช้ประโยชน์ในการบริโภคสด 25 เปอร์เซ็นต์ ทำเป็นสัตว์น้ำปรุงแต่งเพื่อการส่งออก 24 เปอร์เซ็นต์ เป็นอาหารสัตว์หรือปลาเป็ด 22.7 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือแปรรูปเป็นอาหารกระป๋อง หมัก ดอง ตากแห้ง ทำเค็ม นึ่ง ย่าง รมควัน และอื่นๆ ตามลำดับ
 
       ประเทศไทยมีปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำมากว่าการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศ มีดุลการค้าจากการส่งออกสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นทุกปี (รูปที่ 4) ในปี 2551 ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าสัตว์น้ำ 228,217.6 ล้านบาท มีการนำเข้าสัตว์น้ำ 81,129 ล้านบาท มีดุลการค้า 147,089.0 ล้านบาท และในปี 2559 ประเทศไทยสามารถส่งออกสัตว์น้ำได้ลดลงเหลือเพียง 181,209 ล้านบาท และมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าประมงเพิ่มขึ้นเป็น 92,098 ล้านบาทและมีดุลการค้าลดลงเหลือเพียง 89,110 ล้านบาท (รูปที่ 6) อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกก็มาจากการแปรรูปสัตว์น้ำที่นำเข้ามาด้วยเช่นกัน
 

balance

รูปที่ 4 ดุลการค้าสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำปี 2532 - 2551
 (กรมประมง. 2551. สถิติการประมงแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 เอกสารฉบับที่ 12/2553. ศูนย์สารสนเทศ กรมประมง)
 
     
 
รูปที่ 5 ดุลการค้าสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำปี 2550 - 2559
(ดัดแปลงจาก กลุ่มวิเคราะห์การค้าสินค้าประมงระหว่างประเทศ.กองประมงต่างประเทศ กรมประมง .ประมวลผลข้อมูลจากกรมศุลกากร (FFAD))
 
 
     พื้นที่การเพาะเลี้ยงชายฝั่งตามสถิติการประมงแห่งประเทศไทยปี 2546 มี 512,620 ไร่ จำนวนครัวเรือนที่ทำอาชีพเพาะเลี้ยงชายฝั่งเพียงอย่างเดียวประมาณ 35,711 ครัวเรือน (ปี 2551)  ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงมีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมา (รูปที่ 6) โดยในปี 2527 มีผลผลิตสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง 61.5 พันตัน และ 20 ปี ต่อมา ในปี 2547 มีผลผลิตสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงชายฝั่งเท่ากับ 736,300 ตัน ในขณะที่ผลผลิตประมงโดยการจับมีปริมาณเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.4 เท่านั้นในช่วงเวลาดังกล่าว ในช่วงปี 2551-2558 ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ (รูปที่ 7) โดยปี 2558 มีปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำเหลือเพียง 508,700 ตันลดลงจากปี 2547 ร้อยละ 40 
     ชนิดสัตว์น้ไที่นิยมเพาะเลี้ยงได้แก่ กุ้ง ปลาทะเล และหอย เนื่องจากเป็นสัตว์น้ำที่ค่อนข้างมีราคาและเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งกุ้งทะเล (ส่วนใหญ๋เป็นกุ้งขาวแวนนาไม) เป็นสัตว์น้ำที่นิยมในการเพาะเลี้ยงและส่งออกมากที่สุดโดยเฉลี่ยร้อยละ 80-85 ของปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมด ในปี 2551 มีผลผลิตกุ้งประมาณ 460,000 ตัน  ผลผลิตหอย (ส่วนใหญ๋เป็นหอยแมลงภู่) 382,920 ตัน  และผลผลิตจากปลาทะเล 20,350 ตัน[9]
ในปี 2558 สัตว์น้ำที่นิยมเพาะเลี้ยงยังคงเป็นกุ้งขาว โดยคิดเป็นร้อยละ 55 ของปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมด 
 
 
 
รูปที่ 6 ปริมาณและมูลค่าสัตว์เลี้ยงจากการเพาะเลี้ยงชายฝั่งป๊ 2522-2547
 
 
 รูปที่ 7 ปริมาณและมูลค่าสัตว์เลี้ยงจากการเพาะเลี้ยงชายฝั่งปี 2551-2558
 
 

      ในระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทยยังพบปัญหาในหลายส่วน ได้แก่ ปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่สูง เนื่องจากระบบการเลี้ยงผูกขาดอยู่กับอาหารสำเร็จรูปซึ่งมีราคาแพงและค่าแรงงานสูง ในบางครั้งเกษตรกรยังขาดแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในการขยายกิจการและดำเนินธุรกิจ ปัญหาเรื่องโรคระบาดก็ทำให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบางชนิดยังไม่ประสบความสำเร็จ

      สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแต่ละชนิดก็มีอยู่จำกัด โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงตามชายฝั่งยังทำได้ไม่เต็มศักยภาพ นอกจากนี้ยังมีปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณแหล่งเพาะเลี้ยงโดยเฉพาะเรื่อง น้ำเสีย โดยแหล่งกำเนิดมลพิษอาจมาจากโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณใกล้เคียง หรือจากการปล่อยน้ำทิ้งของเรือประมง ชุมชน ทำให้มีการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช/สารพิษ เช่น โลหะหนักที่มากับน้ำ การเพาะเลี้ยงเกินขีดความสามารถในการรองรับของแหล่งน้ำ นอกจากนี้ในบางพื้นที่ยังประสบปัญหาปริมาณน้ำในการเพาะเลี้ยงไม่สม่ำเสมอ ในเขตพื้นที่น้ำเค็มก็ประสบปัญหาเรื่องความเค็มที่ไม่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเนื่องจากน้ำจืดลงมามากเกินไป อีกทั้งสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ภัยธรรมชาติ ภัยแล้ง ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและทรัพยากร ที่ทำให้พื้นที่เพาะเลี้ยงและผลผลิตสัตว์น้ำเสียหาย

       ปัญหาด้านการตลาด เช่น การไม่สามารถรวบรวมผลผลิตได้เนื่องจากเกษตรกรแยกกันขาย ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตมีไม่เพียงพอต่อการแปรรูปเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ มาตรฐานสินค้าจากประเทศผู้นำเข้ามีมากขึ้น ประเทศผู้ซื้อมีการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้นในเรื่องของคุณภาพสินค้า ทำให้สินค้าสัตว์น้ำที่จะส่งออกต้องมีใบรับรองปลอดโรค ในขณะที่ราคาสัตว์น้ำมีความผันผวนราคาสัตว์น้ำไม่จูงใจผู้ผลิต เกษตกรผู้ผลิตยังขาดอำนาจต่อรองทางการตลาด พ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคาและไม่มีการประกันราคา นอกจากนี้ยังขาดข้อมูลเศรษฐกิจและการตลาดที่ทันสมัยรวดเร็ว รวมถึงไม่มีองค์กรที่รวบรวมและสร้างระบบเพื่ออำนวยการต่อรองราคาและควบคุม คุณภาพตามมาตรฐานของตลาด ขาดตัวกลางเชื่อมโยงข้อมูล
              

       ปัญหาที่สำคัญอีกประการ คือ ปัญหาด้านการบริหารจัดการ เช่น การขาดความรู้ทางวิชาการที่จะใช้ในการบริหารจัดการฟาร์มเพาะเลี้ยง ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนไม่ค่อยต่อเนื่อง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงขาดความรู้ในการจัดการระบบแบบครบวงจร ขาดความยั่งยืนของอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ดังนั้นจึงต้องมีแนวนโยบายในการจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การพัฒนาคุณภาพและเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในระดับพื้นบ้านให้เป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนการวิจัยด้านการเพาะเลี้ยงและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจและเทคนิคการเพาะเลี้ยงให้เหมาะสมต่อคุณภาพสิ่งแวด ล้อมและสุขภาพสัตว์น้ำ พัฒนาพันธุ์ปลาและพันธุ์ไม้น้ำเพื่อการส่งออกพัฒนา ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางตลาดของภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การจัดการและแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นหน้าที่ของกรมประมงในฐานะที่เป็นหน่วย งานหลักที่รับผิดชอบด้านการประมงทั้งหมดของประเทศจึงควรมีการกำหนด ยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 
แนวโน้มของการประมงและการเพาะเลี้ยงชายฝั่งของไทย
 
      เนื่องจากตลาดโลกยังมีความต้องการบริโภคสัตว์น้ำอยู่ปริมาณมาก และประเทศไทยก็มีโอกาสขยายตลาดสินค้าสัตว์น้ำได้อีก แม้จะมีปัญหาเรื่องการกีดกันทางการค้าในหลายๆ รูปแบบ แต่เชื่อแน่ว่าการพัฒนาศักยภาพการทำประมงทะเลในลักษณะที่ไม่ทำลายสิ่งแวด ล้อมและระบบนิเวศ และการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างครบวงจรในระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงการศึกษาวิจัยในทุกด้านจากต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำจะช่วยแก้ปัญหาจากการกีด กันเหล่านั้นได้

      ในส่วนของการทำประมงทะเล ประเทศไทยน่าจะมีการทำประมงทูน่าในน่านน้ำสากลหรือทะเลหลวงเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของการทำประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศอื่น มีแนวโน้มที่จะสร้างความตกลงกับประเทศที่อยู่ไกลออกไปมากยิ่งขึ้น เพื่อให้กองเรือประมงไทยสามารถเข้าไปทำประมงในน่านน้ำเหล่านั้นได้อย่างถูก กฎหมาย อย่างไรก็ตามด้วยข้อบังคับหรือการกีดกันทางการค้าในส่วนที่ไม่ใช่การใช้ภาษี จะเป็นตัวกำหนดหรือบังคับให้ผู้ประกอบการทำประมงทะเลของไทยต้องพัฒนาวิธีการ ทำประมงในลักษณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเอาใจใส่ในสวัสดิภาพของแรงงานประมงในกองเรือให้ดีขึ้นด้วย และสำหรับการทำประมงในน่านน้ำไทย โดยเฉพาะในอ่าวไทยจะถูกจำกัดโดยปริมาณทรัพยากรประมงที่ลดน้อยลง ดังนั้นนโยบายของประเทศจึงไม่พ้นการทำประมงควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากร ประมงให้เกิดความสมดุลระหว่างกัน

       สำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งของประเทศไทยมีแนวโน้มของปริมาณผลผลิต โดยรวมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และน่าจะเป็นผลผลิตหลักของการส่งออกสัตว์น้ำจากประเทศไทยไปสู่ตลาดโลก เนื่องจากสามารถเลือกชนิดสัตว์น้ำได้ตามต้องการ ซึ่งจะทำให้ชนิดสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงมีความหลากหลาย นอกจากนี้ระบบการเพาะเลี้ยงเป็นกระบวนการที่สามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน อย่างไรก็ตามประเทศไทยควรมีนโยบาย/ยุทธศาสตร์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิด ต่างๆ ที่ชัดเจน เพื่อจะสามารถกำหนดและควบคุมราคาของสัตว์น้ำนั้นๆ ได้ตามต้องการ และสร้างตราของสินค้า (Brand Name) ให้กับประเทศไทย 
 

 


 

 ที่มา :

สำนักบัญชีประชาชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม. 2550. ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมาสที่ 4/2549. แถลงข่าว. แหล่งที่มา: http://www.nesdb.go.th/Default.aspx?tabid=95, 20 เมษายน 2550.

กรมประมง. 2548. สถิติการประมงแห่งประเทศไทย เอกสารฉบับที่ 6/2548. ศูนย์สารสนเทศ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรุงเทพฯ

กรมประมง. 2544. 75 ปี กรมประมง. กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรุงเทพฯ. หน้า 165.

กรมประมง. 2550. จำนวนเรือที่จดทะเบียนฯการมีไว้ในครอบครองซึ่งเครื่องมือทำการประมงทั้งหมดจำแนกตามชนิดของเครื่องมือทำการประมง ปี 2543 - 2547. เอกสารประกอบการจัดทำแผนแม่บทการจัดการประมงทะเล, คณะอนุกรรมการข้อมูลเพื่อการจัดทำแผนแม่บทการจัดการประมงทะเล, กรุงเทพฯ.

กรมประมง. 2550. ข้อมูลจากกลุ่มวิเคราะห์การค้าสินค้าประมงระหว่างประเทศ วิเคราะห์จากข้อมูลสถิติกรมศุลกากร. ใน เอกสารประกอบการสัมมนาคณะอนุกรรมการข้อมูลเพื่อการจัดทำแผนแม่บทการจัดการ ประมงทะเล วันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2550 ณ โรงแรมชลพฤกษ์รีสอร์ท จังหวัดนครนายก, กรุงเทพฯ.

กรมประมง. 2549. รายงานสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล่มที่ 6 ประมง เอกสารส่วนที่ 3 เล่มที่ 6/6. โครงการ UNEP GEF Project on Reversing Environmental Trends in the South China Sea and Gulf of Thailand (UNEP GEF SCS), ศูนย์พัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยตอนกลาง, ชุมพร. หน้า 3-7.

คิดจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลล่าร์สหรัฐเฉลี่ยในปี 2547 ประมาณ 40.30 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ (ธนาคารแห่งประเทศไทย. 2547. อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ประจำวันที่ 11 กันยายน 2547. อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์. แหล่งที่มา: http://www.bot.or.th/bothomepage/databank/FinMarkets/ExchangeRate/
exchange_t.asp
, 3 กันยายน 2550.)

FAO. 2549. World aquaculture product of fish, crustaceans, mollusks, etc. by principal producers in 20.

[9] ส่วนเศรษฐกิจประมง. กรมประมง. เข้าถึงได้จาก http://fishco.fisheries.go.th/fisheconomic/fish_News52.html . สืบค้นวันที่ 26 พฤศจิกายน 2553

กลุ่มวิเคราะห์การค้าสินค้าประมงระหว่างประเทศ.กองประมงต่างประเทศ กรมประมง .ประมวลผลข้อมูลจากกรมศุลกากร (FFAD). [ออนไลน์]. 2558. เข้าถึงได้จากhttp://164.115.22.205/foreign/fisher2/index.php?option=com_goods&view=imports&layout=search&Itemid=140 (กันยายน 2560)

 
การประมง

 

ความสำคัญของประมงทะเล

 


bottom

top

Latest News

Popular


bottom