การท่องเที่ยวและนันทนาการ
ความอุดมสมบูรณ์และความสวยงามของทะเลไทยและพื้นที่บริเวณชายฝั่งทำให้ประเทศไทย กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ชายฝั่งทะเลทั้งด้านอ่าวไทยในทะเลจีนใต้ และชายฝั่งทะเลอันดามัน ในมหาสมุทรอินเดีย ได้ถูกนำมาพัฒนาทางการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และสร้างรายได้เข้า ประเทศเป็นจำนวนมาก [1] กิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญได้แก่ กิจกรรมดำน้ำดูปะการัง กิจกรรมพักผ่อนและการชมทิวทัศน์ ชายหาด การชมหมู่บ้านชาวประมงและชาวเล กิจกรรมการแล่นเรือ การเล่นกีฬาทางน้ำ การตกปลา เป็นต้น ในแต่ละปีประเทศไทยสามารถรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก ทั้งนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และนักท่องเที่ยวชาวไทยเอง เกิดเป็นรายได้เข้าสู่ประเทศ อีกทั้งก่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินตราภายในประเทศ และสร้างอาชีพแก่ประชาชนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก
กิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเล
1. การดำน้ำ [2]
การดำน้ำดูปะการัง เป็นการท่องเที่ยวที่สามารถทำให้นักท่องเที่ยวได้ลงไปสัมผัสกับโลกใต้ทะเล ที่มีแต่ความสวยงามตระการตา จุดดำน้ำมีหลายแห่งในทะเลแถบภาคตะวันออก[3] เป็นศูนย์รวมคนรักธรรมชาติทางทะเล สามารถพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ๆ ใต้ท้องทะเล และสนุกเพลิดเพลินกับกิจกรรมดำน้ำ พบฝูงปลามากมายหลากหลายชนิดใต้ท้องทะเลสีคราม น้ำทะเลใส ที่อุดมสมบูรณ์
|
ที่มา : ดัดแปลงจาก Thailand Scuba Diving, Thailand Dive Center, Scuba Dive Travel Information, PADI Scuba Diving. เข้าถึงได้จาก http://scuba.thai-tour.com/
แหล่งดำน้ำในประเทศไทย คลิกที่นี่
รายชื่อสถาบันสอนดำน้ำ คลิกที่นี่
2. การแล่นเรือ-เรือยอชท์ [4]
ภูเก็ต เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในทะเลอันดามัน มีกิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเลหลากหลาย หนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและต่างประเทศ นั่นก็คือ การเล่นเรือใบ และท่องเที่ยวทางทะเลด้วยเรือยอชท์ เพื่อชมความงามของท้องทะเลไทยและเกาะแก่งต่างๆ รอบภูเก็ต และแถบจังหวัดพังงา นอกจากภูเก็ตจะมีบริการให้เช่าเรือใบ เรือยอชท์หลายบริษัทแล้ว ยังมีการจัดการแข่งขันที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายรายการ อาทิ การแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน หรือ ภูเก็ต คิง คัพ รีกัตตา ที่มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันจากหลายประเทศทั่วโลก
สำหรับการเล่นเรือยอชท์จำเป็นต้องใช้ความชำนาญและประสบการณ์ และเมื่อวางแผนเช่าเรือยอชท์ในการเดินทางควรตรวจสอบสภาพอากาศ สภาพน้ำขึ้นน้ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูมรสุมของฝั่งอันดามัน ซึ่งอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม และควรมีการเตรียมพร้อมในเรื่องอุปกรณ์สื่อสาร ยา น้ำดื่มและอาหาร
นอกจากนี้ยังสามารถท่องเที่ยวเมืองพัทยา[5] โดยการนั่งเรือยอร์ชชมความงามของท้องทะเลได้อีกด้วย
3. การท่องเที่ยวชายหาด
ชายหาดในประเทศไทยนั้นมีมากมาย[6] แต่ลักษณะของชายหาดแต่ละแบบนั้น ก็จะแตกต่างกันตามสภาพภูมิประเทศ และสภาพแวดล้อมทั่วไป เช่น หาดทรายอาจมีทรายละเอียด หรือทรายหยาบ สีเม็ดทรายที่ต่างกันไป
แผนที่สถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญของไทยบน Google คลิกที่นี่
ตารางที่ 1 : สถานที่ท่องเที่ยวทางทะเล
จังหวัด |
สถานที่ท่องเที่ยวทางทะเล |
ชลบุรี | บางแสน เกาะสีชัง พัทยา เกาะล้าน เกาะขามใหญ่ บางเสร่ หาดเตยงาม หาดจอมเทียน เกาะค้างคาว |
ระยอง | เกาะเสม็ด หาดแม่รำพึง เกาะทะลุ เกาะมันนอก หินสวยน้ำใส |
จันทบุรี | หาดเจ้าหลาว หาดคุ้งวิมาน |
ตราด | บ้าน สลักเพชร-บ้านโรงถ่าน เกาะช้าง น้ำตกธารมะยม หาดทรายขาว เกาะช้างใต้ เกาะเหลายา เกาะหวาย เกาะขาม เกาะง่าม เกาะกูด เกาะหมาก อ่าวใบลาน หาดไก่แบ้ หาดทรายเงิน หาดทรายแก้ว หาดทรายงาม หาดทับทิม หาดไม้รูด |
เพชรบุรี | หาดเจ้าสำราญ หาดปึกเตียน หาดชะอำ |
ประจวบคีรีขันธ์ | ตัวเมืองหัวหิน เขาตะเกียบ สวนสนประดิพัทธ์ อ่าวแม่รำพึง เขาเต่า เขาช่องกระจก อ่าวมะนาว อ่าวประจวบคีรีขันธ์ หาดวนกร หาดแหลมศาลา |
ชุมพร | หาดทรายรี หาดทุ่งวัวแล่น หาดคอเขา หาดภราดรภาพ หาดทรายรีสวี |
สุราษฎร์ธานี | เกาะสมุย หมู่เกาะอ่างทอง เกาะพงัน หาดริ้น เกาะเต่า เกาะนางยวน |
สงขลา | แหลมสมิหลา ทะเลสาบสงขลา เกาะยอ |
พัทลุง | อุทยานนกน้ำทะเลน้อย |
ปัตตานี | หาดปานาเระ หาดตะโละกาโปร์ |
นราธิวาส | หาดนราทัศน์ |
ระนอง | อุทยานแห่งชาติแหลมสน หาดบางเบน หาดชาญดำริ หาดประพาส |
พังงา | เกาะยาว หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ |
กระบี่ | อ่าว นาง หมู่เกาะพีพี อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา หาดยาว หาดคลองดาว หาดคลองนิน หาดพระแอะ หาดถ้ำพระนาง หาดไร่เลย์ |
ภูเก็ต | หาดราไว แหลมพรหมเทพ หาดในหาน อ่าวป่าตอง หาดในยาง เขารัง หาดกะตะ หาดกมลา หาดในทอน หาดสุรินทร์ หาดกะรน อ่าวเอมเมอรัลด์ หาดฟรีดอม |
ตรัง | เกาะกระดาน เกาะมุกและถ้ำมรกต หาดเจ้าไหม |
สตูล | เกาะหินงาม ทะเลบัน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา |
ที่มา : ทะเลเมืองไทย. รวมสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเล. ดัดแปลงจาก http://travel.sanook.com/beach/beach_06211.php
ดัดแปลงจาก wannasurf. surfmap. เข้าถึงได้จาก http://www.wannasurf.com/spot/Asia/Thailand/map/map_-surf-spots-thailand.gif
ดัดแปลงจาก สนิท อักษรแก้ว. ประชากรและทรัพยากรชายฝั่งทะเล (รวมบทความทางวิชาการ). ทุนเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2545. และ http://www.trippergang.com
ความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล
การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็วกำลังเป็นปัญหาเนื่องจากความเสื่อมโทรมของ แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมมีดังนี้
- ประชาชนขาดความสนใจ และขาดการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และมีทัศนคติเชิงลบต่อการประกาศเขตอนุรักษ์
- ขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ มีงบประมาณไม่เพียงพอ
- ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถอย่างเพียงพอต่อการบริหารจัดการพื้นที่
- กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการบริหารจัดการพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง
- ขาดประสิทธิภาพในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
- ขาดองค์ความรู้ที่มีความจำเป็นต่อการบริหารจัดการพื้นที่ นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปขาดทักษะ และความรู้ความตระหนักในการอนุรักษ์ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
สถิติการท่องเที่ยว
กรมการท่องเที่ยว ได้จำแนกจำแนกกลุ่มคนที่มาท่องเที่ยวได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- นักท่องเที่ยว (Tourists) คือ ผู้ที่เดินทางไปอยู่ในสถานที่อันมิใช่ที่พำนักถาวรของตน เป็นการเดินทางไปอยู่ชั่วคราว (มีการค้างคืนอย่างน้อย 1 คืน) แต่ไม่เกิน 90 วัน ที่มิใช่การไปประกอบอาชีพ หรือหารายได้
- นักทัศนาจร (Excursionists) คือ ผู้ที่เดินทางไปอยู่ในสถานที่อันมิใช่ที่พำนักถาวรของตน ซึ่งเป็นการเดินทางไปอยู่ชั่วคราวในระยะเวลาสั้นๆไม่ถึง 24 ชั่วโมง (ไม่ได้ค้างคืน) ที่มิใช่การไปประกอบอาชีพ หรือหารายได้
- ผู้เยี่ยมเยือน (Visitors) คือ ผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ โดยอาจจำแนกเป็นนักท่องเที่ยวหรือเป็นนักทัศนาจรก็ได้ ตามแต่จะตรงกับคุณสมบัติหรือนิยามในข้อข้างต้น
ประเทศไทยมีจังหวัดที่มีอาณาเขตติดชายฝั่งทะเลในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ทั้งสิ้น 23 จังหวัด (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) จากสถิติปี 2552 - 2558 (รูปที่ 1) ทั้งจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยสถิติในปี 2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 86,810,815 หรือคิดเป็นรอยละ 60.75 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งประเทศ และมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 128.47 สร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวเป็นมูลค่า 836,786.26 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 53.35 ของรายได้การท่องเที่ยวทั้งประเทศ และเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 210.90 จากตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงความสำคัญของจังหวัดชายฝั่งทะเลในด้านเศรษฐกิจทางท่องเที่ยวที่สำคัญอย่างมากในปัจจุบัน
สถิติการท่องเที่ยว ปี 2550-2552
สถิติการท่องเที่ยว ปี 2552-2558
รูปที่ 1 สถิติการท่องเที่ยว 23 จังหวัดชายทะเล (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) (ดัดแปลงจาก สำนักงานสถิติอห่งชาติ .สถิติการท่องเที่ยว, 2560) |
[1] เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์. ผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล สถานการณ์ และข้อเสนอ. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2550.
[2] ศูนย์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. ฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในแหล่งท่องเที่ยว. ข้อควรระวังสำหรับการท่องเที่ยวทางทะเล. เข้าถึงได้จาก http://surat.stkc.go.th/surat-ecology-marine-cautions
[3] กิจกรรมดำน้ำดูปะการัง. เข้าถึงได้จาก http://www.chombeach.com/index.php?mo=3&art=216369
[4] การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. การแล่นเรือใบ-เรือยอชท์. เข้าถึงได้จาก http://thai.tourismthailand.org/activities/content-140-1.html
[5] การท่องเที่ยวเรือยอร์ช. เข้าถึงได้จาก http://www.thaiorc.com/webindex/preview.php?no=0000342
[6] ชายหาดในไทย. เข้าถึงได้จาก http://www.trippergang.com
กรมขนส่งทางน้ำและพานิชย์นาวี กระทรวงคมนาคม. ข้อมูลท่าเรือ. ดัดแปลงจาก
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. สถิติการท่องเที้ยว. เข้าถึงได้จาก http://service.nso.go.th/nso/web/statseries/statseries23.html