.

สื่อออนไลน์

Search this site

ลงทะเบียน

MKH Update

สถิติการเข้าชม


 

การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล

         

       การผลิตน้ำประปาโดยทั่วไปจะเลือกผลิตน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูก และใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ง่าย ไม่ซับซ้อน แต่สำหรับในบางพื้นที่ที่สภาพภูมิประเทศไม่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติแต่มีผู้คน อาศัยอยู่มาก ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ จึงจำเป็นต้องใช้เลือกใช้เทคโนโลยีอื่นเพื่อผลิตน้ำประปา และสำหรับการใช้เทคโนโลยีการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลระบบรีเวอร์สออสโมซีส (Reverse Osmosis: RO) ที่ใช้แรงดันสูงดันน้ำทะเลผ่านเยื่อกรองที่มีรูขนาดเล็กเพื่อกรองแร่ธาตุ เกลือ และสารตกตะกอนต่างๆ ออกจากน้ำทะเล ทำให้น้ำจืดออกมาและพร้อมป้อนเข้าสู่ระบบจ่ายน้ำประปา ส่วนเกลือที่ได้นั้นนำกลับไปทิ้งในทะเล เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีสภาพเป็นเกาะ ที่ไม่มีแหล่งน้ำจืดสำหรับอุปโภคและบริโภค เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำร่วมระหว่างน้ำจืดจากธรรมชาติและน้ำจืด ที่สกัดจากน้ำทะเล[1] บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทิลิตี้ส์ จำกัด (ยูยู) เป็นผู้นำเทคโนโลยีการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล โดยใช้ระบบรีเวอร์ส ออสโมซีส (RO) เป็นรายแรกและรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยปัจจุบันมีกิจการการผลิตที่ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะล้าน และอำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี มีขนาดกำลังผลิตน้ำทะเลเป็นน้ำจืดรวมกัน 3 เกาะประมาณ 10,000-20,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน[2] มีรายละเอียดดังนี้[3]

  • กิจการประปาเกาะสีชัง ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งถือได้ว่าเป็นกิจการประปาที่ผลิตจากนำทะเลเป็นแห่งแรกของประเทศไทย มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ให้บริการประชาชนในเขตเทศบาลตำบลเกาะสีชัง อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่มีประมาณ 1,600 ครัวเรือน โดยเป็นการใช้ระบบ RO เกือบ 100เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณน้ำประปาที่ผลิตได้บนเกาะ[4] เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติเลย และในปี 2549 กิจการประปาเกาะสีชังได้รับการประกาศเป็น “น้ำประปาดื่มได้” จากกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขด้วย
  • กิจการประปาเกาะสมุย ถือได้ว่าเป็นกิจการที่ผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลเป็นรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ณ ขณะนี้ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 โดยมีกำลังการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลอยู่ที่ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวันในระยะแรกของโครงการ และมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในปี 2550 ซึ่งน้ำประปาจำนวนดังกล่าวจะเข้าไปช่วยเสริมกำลังการผลิตน้ำประปาจากการประปาของเกาะสมุยของการประปาส่วนภูมิภาค เพื่อสั่งจ่ายให้กับประชาชนและสถานประกอบการท่องเที่ยวบนเกาะสมุยอย่างต่อเนื่องแม้จะอยู่ในช่วงหน้าแล้งหรือไม่ก็ตาม โดยมีการใช้ระบบ RO 15 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำประปาที่ผลิตได้บนเกาะ[4] 
  • กิจการประปาเกาะล้าน บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทิลิตี้ส์ได้รับสัญญาจากบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ ให้เข้าไปบริหารกิจการประปาของเกาะล้าน เพื่อรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยวบนเกาะล้าน โดยบริษัทได้ก่อสร้างและติดตั้งระบบผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลแล้วเสร็จในปี 2549 สามารถทำให้ผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลได้ 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน สั่งจ่ายให้กับประชาชนมากกว่า 400 ครัวเรือน รวมถึงสามารถสั่งจ่ายให้กับสถานประกอบการท่องเที่ยวบนเกาะล้านได้อีกด้วย

 
        ต้นทุนการผลิตน้ำทะเลเป็นน้ำจืดจะเป็นต้นทุนค่าไฟและการวางระบบท่อประมาณ 40-50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร แต่ทั้งนี้ยังขึ้นกับสภาพพื้นทีสำหรับราคาขายน้ำทางบริษัทจะคำนวณกำไรประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 44-45 บาทต่อลูกบาศก์เมตร แต่ราคาขายอาจจะสูงขึ้นหากต้องจ่ายน้ำถึงบ้านเรือนผู้ใช้เพราะต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น[4] แต่อย่างไรก็ตามอนาคตราคาน้ำทะเลเป็นน้ำจืดจะถูกลงเรื่อยๆ โดยบริษัทเตรียมที่จะลงทุนในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศเพิ่มเติม ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการทำน้ำทะเลเป็นน้ำจืดในพื้นที่ใหม่ 4 แห่ง ได้แก่ เกาะพีพี จังหวัดภูเก็ต เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง และเกาะช้าง จังหวัดตราด[2] สำหรับในภาคอุตสาหกรรมทางบริษัทได้จำหน่ายน้ำดิบให้ในราคา 8 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนน้ำเพื่อการบริโภคเก็บที่ 5 บาทต่อลูกบาศก์เมตร[2] ในภาคอุตสาหกรรมมีการปล่อยน้ำทิ้งออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งน้ำเหล่านั้นสามารถใช้กรรมวิธี RO สกัดเป็นน้ำบริสุทธิ์ได้เช่นเดียวกัน โดยการใช้น้ำทิ้งจากโรงงานมาสกัดยังมีผลดีในแง่ใช้แรงดันในการสกัดน้อยกว่า ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า

 
        น้ำทะเลที่สูบขึ้นมาจากทะเล 1 ลูกบาศก์เมตร หรือ 1,000 ลิตร เมื่อผ่านการกรองแล้วจะได้น้ำจืดประมาณ 400 ลิตร ส่วนอีก 600 ลิตร จะเป็นน้ำทะเลที่มีความเข้มข้นของเกลือมากกว่าปกติเกือบ 2 เท่า ซึ่งจะทิ้งลงทะเลไป[5] ทั้งนี้โรงงานที่ผลิตน้ำจืดจะต้องปล่อยทิ้งน้ำเค็มจัด (Brine) ผ่านท่อน้ำทิ้งลงสู่พื้นท้องทะเล ซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้อย่างดีเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของมวลน้ำเพื่อให้เกิด การแพร่กระจายโดยทั่วถึงของน้ำทิ้ง มิฉะนั้นแล้วอาจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพืชและสัตว์บริเวณโรงงานและพื้นที่ข้างเคียงได้ในน้ำทิ้งที่เค็มจัดนี้ (Waste Brine) หากมีการสร้างโรงงานผลิตเกลือในบริเวณเดียวกับโรงงานน้ำจืด ก็จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการผลิตเกลือจากการใช้น้ำทะเลเป็นวัตถุดิบ[6] 

 

สถานการณ์การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในประเทศไทย ปี 2558

        สถานการณ์การผลิตน้ำจืดจากทะเลพบว่า ประเทศไทยได้เริ่มนำเข้าเทคโนโลยีการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลด้วยระบบรีเวอร์สออสโมซีส (Reverse Osmosis; RO) โดยบริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทิลิตี้ส์ จำกัด ซึ่งเบื้องต้นได้มีการดำเนินการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลใน 3 พื้นที่ ได้แก่ เกาะสีชัง เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี และเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยกำลังการผลิตน้ำจืดจากทะเลของสามพื้นที่รวมกันประมาณ 10,000-20,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทิลิตี้ส์ จำกัด, 2547; หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ, 2550)

ใน พ.ศ. 2558 มีการเปิดเผยจากการประปาส่วนภูมิภาคว่า หน่วยงานที่ผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลมีทั้งหมด 3 หน่วยงาน ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค บริษัทอาร์อีคิว และกลุ่มบริษัท อีสท์ วอเตอร์ ซึ่งได้มีการดำเนินการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลใน 4 พื้นที่ ได้แก่ เกาะสีชัง เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดภูเก็ต โดยกลุ่มบริษัท อีสท์ วอเตอร์ระบุว่า สามารถผลิตน้ำทะเลจากน้ำจืดได้ถึงวันละ 200 และ 2,200 ลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่เกาะล้านและเกาะสมุยตามลำดับ ซึ่งสามารถขายได้ในราคาลูกบาศก์เมตรละ 60 บาท

สำหรับการดำเนินกิจกรรมการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในอนาคตคาดว่า จะมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะบนเกาะต่าง ๆ เช่น เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง และเกาะช้าง จังหวัดตราด เนื่องจากปัญหาน้ำจืดไม่พอใช้ในช่วงฤดูแล้ง น้ำบาดาลที่ด้อยคุณภาพและต้นทุนในการซื้อน้ำจากแผ่นดินใหญ่ที่ค่อนข้างสูง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ในหลายโรงงานอุตสาหกรรมได้มีการดำเนินการนำเสียที่ปล่อยทิ้งมาผ่านวิธีการรีเวอร์สออสโมซีส เพื่อนำ
น้ำจืดกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งช่วยให้โรงงานอุตสาหกรรมลดต้นทุนด้านค่าใช้จ่าย

 

ผลกระทบของการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

       สถานการณ์ของกิจกรรมการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในอนาคตมีการคาดการณ์ไว้ว่า การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลจะได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะตามเกาะขนาดใหญ่ที่รองรับนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากต้นทุนในการขนส่งน้ำจืดจากบนฝั่งที่จะเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการแข่งขันในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ทำให้ราคาของเครื่องผลิตน้ำจืดจะลดลง อย่างไรก็ดีหากแนวโน้มของปริมาณการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลเพิ่มขึ้นจริงตามการคาดการณ์ กิจกรรมการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งสรุปได้ดังนี้

        น้ำทะเลที่ผ่านขบวนการผลิตจะมีค่าความเค็มสูง ซึ่งหากน้ำทะเลที่มีความเค็มสูงถูกปล่อยลงสู่ทะเล จะทำให้คุณภาพของน้ำทะเลเกิดการเปลี่ยนแปลง และส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในทะเลได้ เนื่องจากค่าความเค็มของน้ำทะเลเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในทะเล

 



ที่มา 

[1] บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน). 2548. ล็อกซเล่ย์ตั้งโรงงานผลิตน้ำจืดจากทะเลป้องกันน้ำแล้งบนเกาะสมุย-เกาะช้าง. แหล่งที่มา: http://www.loxbit.co.th/news/news_detail.php?id=55, 21 กันยายน 2550.

[2] หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ. 2550. "อีสต์ วอเตอร์" จ่อทุนพันล้าน พัฒนาแหล่งน้ำ-ผลิตประปา. ฉบับที่ 2212 (26-28 เม.ย. 2550). แหล่งที่มา: http://www.thannews.th.com/detialNews.php?id=T0621122&issue=2212, 20 มิถุนายน 2550.

[3] บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทิลิตี้ส์ จำกัด. 2547. กิจการประปาที่ผลิตจากน้ำทะเล. แหล่งที่มา: http://www.uu.co.th/business.asp?id=60&lang=th, 21 กันยายน 2550.

[4] ผู้จัดการรายวัน. 2548. ธุรกิจ "น้ำประปาทะเล" บูมเล็งขยายสู่แหล่งท่องเที่ยว. หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 26 กันยายน 2548. แหล่งที่มา: http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=40066, 20 มิถุนายน 2550.

[5] ผู้จัดการออนไลน์. 2548. แปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืด: ทางออกวิกฤติภัยแล้ง?. นวัตกรรม. ผู้จัดการออนไลน์ ฉบับวันที่ 29 กันยายน 2548, http://www.manager.co.th, 20 มิถุนายน 2550.

[6] ศรัณย์ เพ็ชร์พิรุณ. 2549. สมุทรกรณี. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ.

 


bottom

top

Latest News

Popular


bottom