การกัดเซาะชายฝั่ง
ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 3,151.10 กิโลเมตร แบ่งเป็นชายฝั่งด้านอ่าวไทยคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด (รวม กทม.) ยาว 2,039.78 กิโลเมตร และชายฝั่งด้านทะเลอันดามันคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ยาวประมาณ 1,111.32 กิโลเมตร ทั้งนี้มีผู้อาศัยในพื้นที่ชายฝั่งทะเลกว่า 21 ล้านคน
ในปัจจุบันพื้นที่ชายฝั่งทะเลถูกใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย เช่น จากกิจกรรมการท่องเที่ยวและนันทนาการ การประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นแหล่งอยู่อาศัยของชุมชนริมทะเล อุตสาหกรรม ท่าเรือ การคมนาคมทางน้ำ เป็นต้น ชายฝั่งทะเลจึงมีความสำคัญในทุกๆด้านทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
|
http://www.greenpeace.org |
สาเหตุของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
การกัดเซาะชายฝั่ง เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งทะเลที่เกิดขึ้นตลอดเวลาจากการกัดเซาะของคลื่นหรือลม ตะกอนจากที่หนึ่งไปตกทับถมในอีกบริเวณหนึ่ง ทำให้แนวของชายฝั่งเดิมเปลี่ยนแปลงไป บริเวณที่มีตะกอนเคลื่อนเข้ามาน้อยกว่าปริมาณที่ตะกอนเคลื่อนออกไป ถือว่าเป็นบริเวณที่มีการกัดเซาะชายฝั่ง สาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งแบ่งได้เป็น 2 สาเหตุหลักคือ
1. การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งโดยกระบวนการตามธรรมชาติ
เกิดจากการกัดเซาะของคลื่นและลม วาตภัย อุทกภัย หรือจากกิจกรรมของสิ่งมีชีวิตในบริเวณนั้น โดยคลื่นเป็นตัวการสำคัญในการเปลี่ยนแปลงลักษณะของตะกอนและทรายชายฝั่ง
1.1 ลมพายุและมรสุม ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งตามธรรมชาติในรอบปี เช่น แนวชายฝั่งฝั่งตะวันออกมีปริมาตรทรายตามแนวชายฝั่งลดลงในช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ แต่จะมีปริมาตรมากขึ้นในช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และกรณีลมพายุขนาดใหญ่พัดเข้าสู่ชายฝั่งอ่าวไทยก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่งเช่นกัน
|
http://www.vcharkarn.com/vblog/51575/6 |
1.2 กระแสน้ำ และภาวะน้ำขึ้น-น้ำลง ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของตะกอนและมวลทรายบริเวณชายฝั่ง ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของการกัดเซาะและการงอกของแผ่นดินในบางบริเวณ
1.3 ลักษณะทางกายภาพของชายฝั่งทะเล ลักษณะของชายฝั่งที่ต่างกันทำให้การกัดเซาะแต่ละบริเวณไม่เท่ากัน ในบริเวณอ่าวจะได้รับการกัดเซาะน้อยกว่าบริเวณทะเลเปิด เช่น บริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะได้รับผลกระทบรุนแรงเมื่อเกิดพายุที่ก่อตัวในทะเลจีนใต้ คลื่นจะเคลื่อนมากระทบแนวชายฝั่งโดยตรงเนื่องจากเป็นทะเลเปิด และในพื้นที่ชายฝั่งที่ลาดชันน้อยจะเกิดการกัดเซาะน้อยกว่าบริเวณที่ชายฝั่งมีความลาดชันมาก
2. การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งโดยกิจกรรมของมนุษย์
กิจกรรมของมนุษย์ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่ง จากการมุ่งเน้นพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้ทรัพยากรเป็นฐานการผลิต แต่กลับให้ความสำคัญในการรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรน้อยเกินไป ทำให้ทรัพยากรที่มีความสำคัญถูกทำลายและเสื่อมโทรมลงทุกขณะ กิจกรรมที่เร่งกระบวนการกัดเซาะชายฝั่งให้รุนแรงมากขึ้น ได้แก่
2.1 การพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล เช่น การสร้างท่าเรือน้ำลึก ถนนเลียบชายฝั่ง และถมทะเลเพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในเขตนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
2.2 การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเน้นการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อรองรับกิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น สร้างโรงแรม ที่พัก เส้นทางคมนาคม เกิดการรุกล้ำเข้าไปแนวสันทรายชายฝั่ง ซึ่งเป็นปราการที่ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งตามธรรมชาติ
2.3 การสร้างเขื่อน ฝายหรืออ่างเก็บน้ำต้นน้ำ โครงสร้างเหล่านี้มีผลให้ตะกอนที่ไหลตามแม่น้ำมาสะสมบริเวณปากแม่น้ำมีปริมาณลดลง ขาดตะกอนที่จะเติมทดแทนส่วนตะกอนเก่าที่ถูกพัดพาไปบริเวณอื่นโดยกระแสน้ำ ทำให้เกิดการกัดเซาะแนวชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง เช่น ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน เป็นต้น
2.4 การบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ป่าชายมีความสำคัญหลายประการ ประการหนึ่งคือ ช่วยดักและตกตะกอนโคลนทำให้เกิดดินงอกตามแนวชายฝั่ง และเป็นกำแพงป้องกันกระแสคลื่นและลมป้องกันการพังทลายของแนวชายฝั่งด้วย
2.5 การสูบน้ำบาดาล ทำให้เกิดการทรุดตัวของแผ่นดิน และจะมีส่วนให้การกัดเซาะชายฝั่งเกิดความรุนแรงมากขึ้น เช่นการกัดเซาะในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน จากปัญหาการทรุดตัวเนื่องจากการสูบน้ำบาดาลเกินศักยภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ
2.6 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ส่งผลกระทบระบบนิเวศชายฝั่งและปะการัง สภาพอากาศแปรปรวน โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล จะส่งผลกระทบต่อชายฝั่งทะเลทั่วประเทศและอาจก่อให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอีกด้วย
สถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง
การกัดเซาะชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย
การกัดเซาะชายฝั่งทะเลเกิดขึ้นตลอดแนวชายฝั่งในทุกจังหวัดรอบอ่าวไทย โดยพบว่าการกัดเซาะเกิดขึ้นตั้งแต่ชายฝั่งตะวันออกจนถึงชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันตก และบางพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ถูกกัดเซาะมากกว่าอัตรา 5 เมตรต่อปี (จัดเป็นพื้นที่วิกฤต) ใน 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพฯ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และ และอีกหลายพื้นที่ที่ประสบกับปัญหาการกัดเซาะในอัตรา 1 - 5 เมตรต่อปี โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนใน บริเวณปากแม่น้ำบงปะกงจนถึงปากแม่น้ำท่าจีน เป็นพื้นที่ที่มีการกัดเซาะรุนแรงมากที่สุด
การกัดเซาะชายฝั่งทะเลด้านทะเลอันดามัน
การกัดเซาะชายฝั่งทะเลด้านอันดามันเกิดขึ้นตลอดแนวชายฝั่งทุกจังหวัดแต่น้อยกว่าฝั่งอ่าวไทย จังหวัดที่พบการกัดเซาะรุนแรงในอัตราเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตรต่อปี ได้แก่ ระนอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล พื้นที่เสี่ยงต่อการกัดเซาะ 1-5 เมตร/ปี เกิดขึ้นในทุกจังหวัด
กัดเซาะปานกลาง 1 - 5 เมตรต่อปี | กัดเซาะรุนแรง >5 เมตรต่อปี |
พื้นที่แสดงการกัดเซาะชายฝั่งทะเล
|
|
ที่มา : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. ฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง |
สถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง ปี 2554
ตารางที่ 1 การกัดเซาะชายฝั่งทะเล แยกเป็นรายจังหวัด ปี 2560
จังหวัด | กัดเซาะรุนแรง | กัดเซาะปานกลาง | กัดเซาะน้อย | พื้นที่ดำเนินการแก้ไขแล้ว | รวมพื้นที่กัดเซาะ |
พื้นที่อื่นๆ (ยังไม่มีการกัดเซาะ) |
รวมความยาวชาบฝั่ง |
อ่าวไทย | 38.86 | 5.38 | 87.87 | 487.59 | 619.70 | 1,420.08 | 2,039.78 |
ตราด | 1.98 | - | 24.77 | 15.73 | 42.48 | 135.71 | 178.19 |
จันทบุรี | - | - | 22.82 | 18.68 | 41.50 | 62.54 | 104.04 |
ระยอง | 0.16 | 3.53 | 0.01 | 22.87 | 26.57 | 79.04 | 105.61 |
ชลบุรี | - | - | 0.40 | 65.96 | 66.36 | 103.80 | 170.16 |
ฉะเชิงเทรา | 0.01 | - | - | 11.50 | 11.51 | 5.05 | 16.56 |
สมุทรปราการ | 7.30 | - | 0.21 | 44.80 | 52.31 | 5.08 | 57.39 |
กรุงเทพมหานคร | - | - | - | 7.11 | 7.11 | 0.00 | 7.11 |
สมุทรสาคร | - | - | - | 38.61 | 38.61 | 3.43 | 42.04 |
สมุทรสงคราม | - | - | - | 15.54 | 15.54 | 8.69 | 24.23 |
เพชรบุรี | 3.81 | 0.58 | 1.21 | 41.55 | 47.15 | 42.57 | 89.72 |
ประจวบคีรีขันธ์ | 0.55 | 0.22 | 3.72 | 50.72 | 55.21 | 191.62 | 246.83 |
ชุมพร | - | - | - | 13.57 | 13.57 | 234.76 | 248.33 |
สุราษฎร์ธานี | 0.49 | 0.30 | 1.24 | 8.92 | 10.95 | 146.22 | 157.17 |
นครศรีธรรมราช | 4.48 | - | 9.23 | 47.77 | 61.48 | 175.34 | 236.82 |
สงขลา | 12.05 | 0.75 | 4.73 | 35.71 | 53.24 | 105.29 | 158.53 |
ปัตตานี | 7.21 | - | 15.78 | 21.24 | 44.23 | 95.80 | 140.03 |
นราธิวาส | 0.82 | - | 3.75 | 27.31 | 31.88 | 25.14 | 57.02 |
อันดามัน | 3.29 | 2.26 | 8.06 | 71.12 | 84.73 | 1,026.59 | 1,111.32 |
ระนอง | 0.66 | 0.73 | 3.50 | 5.69 | 10.58 | 161.93 | 172.51 |
พังงา | 1.19 | 0.45 | 2.17 | 4.43 | 8.24 | 227.54 | 235.78 |
ภูเก็ต | 0.41 | 0.24 | 0.63 | 23.48 | 24.76 | 178.07 | 202.83 |
กระบี่ | - | 0.45 | 1.76 | 9.99 | 12.20 | 191.59 | 203.79 |
ตรัง | 0.73 | 0.39 | - | 5.34 | 6.46 | 128.57 | 135.03 |
สตูล | 0.30 | - | - | 22.19 | 22.49 | 138.89 | 161.38 |
รวม | 42.15 | 7.64 | 95.93 | 558.71 | 704.43 | 2446.67 | 3151.10 |
145.72 |
ที่มา : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง
การกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบในหลายด้าน อาจจำแนกผลกระทบที่สำคัญได้ 4 ประการ คือ
ทางเศรษฐกิจ
ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ ภาคการท่องเที่ยว จากชายฝั่งถูกกัดเซาะจนเกิดสภาพเสื่อมโทรม สูญเสียแนวชายหาดที่สวยงาม โดยเฉพาะชายหาดที่มีชื่อเสียงและเป็นจุดหมายท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก กระทบถึงรายได้จำนวนมหาศาล และการลงทุนในอนาคต อีกประการหนึ่งคือต้องใช้ทรัพยากรและเงินจำนวนมาก ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง สูญเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับไปด้วย อีกทั้งต้องสูญเสียงบประมาณและทรัพยากรจำนวนมากเพื่อการป้องกันการกัดเซาะแนวชายฝั่งอีกด้วย
ทางสิ่งแวดล้อม
ระบบนิเวศชายฝั่ง ได้แก่ ระบบนิเวศชายหาด ป่าชายเลน หญ้าทะเล และปะการัง จะได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากการกัดเซาะและเปลี่ยนแปลงทับถมของตะกอน สูญเสียแนวชายหาดเดิมที่เคยมี เกิดตะกอนทับถมบนหญ้าทะเลและแนวปะการัง อีกทั้งแนวป่าชายเลนที่ถูกกัดเซาะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เอมโทรมลง ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมในแหล่งหญ้าทะเล แนวปะการัง ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง กระทบถึงสมดุลของระบบนิเวศในบริเวณนั้น
ทางสังคม
ชุมชนริมฝั่งทะเลต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่อื่นจากพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะ ทำให้สูญเสียวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชุมชน ไม่มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจอีกด้วย
คุณภาพชีวิต
ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะ สูญเสียที่ดินและทรัพย์สินของตน ต้องปรับเปลี่ยนวิถีดำรงชีวิตไปจากเดิม เกิดความวิตกกังวลในการประกอบอาชีพใหม่ อาจส่งผลถึงสภาพจิตใจและความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำให้คุณภาพชีวิตตกต่ำลงหรือไม่ดีเหมือนเดิม
ผลกระทบจากการกัดเซาะเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ และเกิดต่อเนื่องสัมพันธ์กันในทุกๆส่วนของสังคม ทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากร และคุณภาพชีวิต ซึ่งผลกระทบนั้นสามารถป้องกันและลดผลกระทบให้เบาบางลงได้ จากการเตรียมพร้อมรับมือทั้งจากภาครัฐ ชุมชนชายทะเล และประชาชนทุกภาคส่วน
การป้องกันและแก้ไขปัญหา
การป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง สามารถจำแนกได้เป็น 2 ระดับ คือ ระดับประเทศ และ ระดับชุมชน
ระดับประเทศ
1. การจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผน และแผนปฏิบัติการเกี่ยวข้องกับการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้แก่
1. มติคณะรัฐมนตรี (รับทราบ) เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 เรื่อง ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2551-2555
2. มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 เรื่องโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
3. มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2552 เรื่องแนวทางการบูรณาการการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของประเทศ
4. มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2553 เรื่อง กรอบแผนบูรณาการงบประมาณการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2559
5. มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550 เรื่อง ยุทธศาสตร์การจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล (20 ปี)
6. มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 เรื่อง แนวทางการจัดการและแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินและกิจกรรมชายฝั่ง ที่ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่งทะเล
7. แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ตั้งแต่ปากแม่น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ถึงปากแม่น้ำปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2546
8. แผนหลักและแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (รูปตัว ก) แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2551
9. แผนหลักและแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2552
10. แผนหลักและแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลพื้นที่อ่าวไทยตอนล่าง ตั้งแต่ปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2552
11.แผนปฏิบัติการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลเชิงบูรณาการ แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2552
2. การออกกฎระเบียบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กำหนดประเภทและขนาดของโครงการ ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยกำหนดให้ “สิ่งก่อสร้างบริเวณหรือในทะเล ประเภทริมชายฝั่งทะเล ติดแนวชายฝั่งทะเล ความยาวตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไป รอดักทราย เขื่อนกันทรายและคลื่น รอบังคับกระแสน้ำทุกขนาด และแนวเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งทะเลทุกขนาด ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นขออนุมัติหรือขออนุญาตโครงการก่อนดำเนินโครงการ”
3. การสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยราชการต่างๆ ได้แก่
- การจัดตั้ง “คณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินกิจกรรมและจัดทำแผนหลักป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล” เพื่อกำกับดูแลการจัดทำแผนหลักและการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ
- การจัดตั้ง “สำนักการจัดการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและพื้นที่ชายฝั่งทะเล” โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อปฏิบัติงานเกี่ยวกับการศึกษา วิจัย และการจัดการการกัดเซาะชายฝั่ง
- การจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยสมุทรศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล” เพื่อปฏิบัติงานเกี่ยวกับการกำหนดแนวทาง และมาตรการคุ้มครอง ป้องกัน แก้ไขและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัจจัยสภาวะแวดล้อมอื่นๆ
ระดับชุมชน
คนในชุมชนร่วมกันจัดการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในพื้นที่ของตน โดยใช้องค์ความรู้ชุมชนที่พัฒนาขึ้นเองจากประสบการณ์ในอดีต ช่วยบรรเทาหรือแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง เช่น การปักไม้ไผ่เป็นแนวกันคลื่นยาวขนานกับแนวชายฝั่ง เพื่อชะลอคลื่น ที่ตำบลโคกขาม อ.เมือง สมุทรสาคร
รูปแบบการแก้ปัญหา
รูปแบบการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ใช้ในปัจจุบันมี 3 รูปแบบ ได้แก่
1. วิธีการป้องกันและแก้ไขทางธรรมชาติ ได้แก่การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลน ป่าชายหาด แหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการัง เพื่อลดความรุนแรงของคลื่นที่กระทบฝั่ง ถือเป็นวิธีป้องกันการกัดเซาะโดยเลียนแบบธรรมชาติ แต่ต้องอาศัยระยะเวลาในการสร้างความมั่นคงแข็งแรงให้กับชายฝั่ง
2. วิธีการทางวิศวกรรม ใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมดักตะกอนทรายและสลายพลังงานคลื่น หรือสร้างหาดทรายเพิ่มเติม เพื่อป้องกันและรักษาสภาพชายฝั่ง โดยใช้หลักการทางวิชาการ มีการศึกษา วิเคราะห์ครอบคลุมทุกมิติ
2.1 เขื่อนกันคลื่น (Breakwater)
เป็นโครงสร้างแบบแข็ง สร้างขนานกับแนวชายฝั่งเพื่อขวางการเคลื่อนตัวของคลื่น มีรูปร่างโครงสร้างและลักษณะต่างกันตามสภาพพื้นที่ เช่น แบบกองหิน แท่งคอนกรีต เป็นต้น ซึ่งอาจวางตัวริมแนวชายฝั่งหรือเป็นแนวกันคลื่นนอกชายฝั่ง (Offshore breakwater) เพื่อสลายพลังงานคลื่นในระยะไกลก่อนกระทบกับชายฝั่ง
|
|
|
http://www.halcrow.com/Areas-of-expertise/Coastal-engineering/Coastal-and-marine-structures/ |
http://www.pe.eng.ku.ac.th/files/semimar/2007/ Website_Group8_14.JUL.2007/index2.htm |
2.2 กำแพงกันตลิ่ง (Revetment)
เป็นการเรียงหินหรือวัสดุคอนกรีตเพื่อเสริมความแข็งแรงแนวชายฝั่ง โดยสร้างเป็นกำแพงแนวดิ่งหรือขั้นบันได
|
|
|
http://www.geograph.org.uk/photo/53240 |
http://dcm2.enr.state.nc.us/estuarineshoreline/options.html |
2.3 รอดักทราย (Groin)
เป็นโครงสร้างที่สร้างยื่นตั้งฉากหรือทำมุมกับแนวชายฝั่งทะเล เพื่อกั้นการเคลื่อนย้ายตะกอนตามแนวชายฝั่ง อาจใช้วัสดุธรรมชาติหรือวัสดุอื่นๆ เช่น หิน รอดักทรายจะทำหน้าที่กันทรายไว้ทำให้เกิดการสะสมมวลทรายในบริเวณหนึ่งๆ ขณะที่มวลทรายอีกด้านจะถูกพัดพาไป
|
|
|
http://www.ebsinstitute.com/OtherActivities/EBS.beacherosion1df.htm |
http://maps.unomaha.edu/maher/GEOL1010/lecture14/shorelines2.html |
2.4 ไส้กรอกทราย (Sand sausage)
เป็นโครงสร้างที่ใช้แผ่นใยสังเคราะห์ (geotexile) ซึ่งบรรจุทรายไว้ วางกั้นแนวเคลื่อนที่ของคลื่นเพื่อลดความรุนแรงของคลื่น
2.5 การเติมทราย (Sand nourishment)
ถือเป็นการสร้างโครงสร้างแบบอ่อน โดยการนำทรายจากบริเวณอื่นมาถมหรือเติมในบริเวณหาดทรายที่ถูกกัดเซาะไป วิธีการนี้ใช้ค่าใช้จ่ายสูง และต้องกำหนดระยะเวลาเติมทรายเรื่อยๆ ทดแทนส่วนที่ถูกกระแสน้ำพัดพาไป
2.6 การสร้างเนินทราย (Dune nourishment)
เป็นการนำทรายมาถมบริเวณริมชายฝั่ง เลียนแบบเนินทรายเดิมที่ถูกทำลายไป และนำพืชบางชนิดที่เหมาะสมมาปลูกเสริม เพื่อดักตะกอนทรายที่ถูกพัดเข้าสู่ชายฝั่ง
3. การใช้วิธีผสมผสาน โดยใช้ทั้งวิธีทางธรรมชาติและทางวิศวกรรมร่วมกัน เช่น การดำเนินการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ โดยการปักไม้ไผ่รวกเป็นกำแพงลดความรุนแรงของคลื่น เมื่อมีการตกตะกอนและทับถมมากขึ้น จึงปลูกไม้ชายเลนไว้หลังแนวปักไม้ไผ่ เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนตามธรรมชาติ ซึ่งพบว่าไม้ชายเลนมีการเจริญเติบโตได้ดี
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
1. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. ฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. การกัดเซาะชายฝั่ง. สืบค้นจาก http://www.dmcr.go.th/marinecenter/erosion.php
2. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2550. สถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทยที่มีความวิกฤต.
3. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งประเทศไทย. วารสารทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฉบับที่ 1 มีนาคม 2554. 70 – 78.กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. 2551. ยุทธศาสตร์การจัดการป้องกันและแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง.
4. สถาบันวิจัยสภาวะสิ่งแวดล้อม, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. วารสารสิ่งแวดล้อม ปีที่ 15 ฉบับที่ 1 มกราคม – มีนาคม 2554. หน้า 7 -11.