.

สื่อออนไลน์

Search this site

ลงทะเบียน

MKH Update

สถิติการเข้าชม


 

น้ำมันรั่วไหล (Oil Spill)

 

      การรั่วไหลของน้ำมันสามารถเกิดได้ทั้งตามธรรมชาติ เช่น รั่วจากแหล่งน้ำมันใต้ดิน หรือจากการกระทำของมนุษย์ เช่น อุบัติเหตุจากเรือ การขุดเจาะน้ำมัน หรือการลักลอบปล่อยทิ้งสู่แหล่งน้ำ การรั่วไหลส่วนมากมักมีที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์

      สาเหตุหนึ่งของน้ำมันรั่วไหลในทะเลมาจากกิจกรรมการขนส่งทางทะเล การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจะควบคู่ไปกับความต้องการพลังงานภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และอาจเกิดอุบัติเหตุทำให้น้ำมันบางส่วนเกิดรั่วไหลลงสู่ทะเลเสมอ ถึงแม้จะมีมาตรการป้องกันต่างๆแล้วก็ตาม

 

      ผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหล

        น้ำมันที่รั่วไหลสู่แหล่งน้ำจะเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพ ทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ เริ่มจากน้ำมันบางส่วนระเหยไป น้ำมันที่เหลือจะเปลี่ยนสภาพไปตามคุณสมบัติเฉพาะของชนิดน้ำมันนั้นๆ และปัจจัยต่างๆ เช่น แสงแดด กระแสน้ำ อุณหภูมิ ฯลฯ

        คราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง และปิดกั้นการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช สาหร่าย และพืชน้ำต่างๆ เปลี่ยนแปลงสภาวะการย่อยสลายของแบคทีเรียในน้ำ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดล้วนส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น (ปลา สัตว์หน้าดิน ปะการัง ฯลฯ) รวมถึงนกน้ำด้วย เกิดการสะสมสารพิษในห่วงโซ่อาหารที่เริ่มตั้งแต่ผู้ผลิต (แพลงก์ตอนพืช) ผู้บริโภคขั้นต้น (แพลงก์ตอนสัตว์/ปลา) จนถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้ายซึ่งก็คือมนุษย์

 

 
http://bpoilspillcrisisinthegulf.webs.com   http://gulfofmexicooilspillblog.files.wordpress.com

 

        คราบน้ำมันยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประมงและการเพาะลี้ยงชายฝั่ง เช่น สัตว์น้ำตายจากคราบน้ำมัน ขาดออกซิเจน ชายหาดสกปรกจากคราบน้ำมัน ทำลายทัศนียภาพ มีกลิ่นเหม็น ไม่เหมาะกับการท่องเที่ยวและพักผ่อน ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจในชุมชนท้องถิ่นและระดับประเทศ

        ความรุนแรงของผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหล ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งชนิดของน้ำมัน ปริมาณที่รั่วไหล สภาพภูมิศาสตร์ของบริเวณที่เกิดรั่วไหล กระแสน้ำ กระแสลม การขึ้น-ลงของน้ำทะเล ตลอดจนความหลากหลายและความสมบูรณ์ของทรัพยากรรอบๆบริเวณนั้น

 

การเกิดน้ำมันรั่วไหลในทะเลไทย

         กรมควบคุมมลพิษ รายงานว่าในระหว่างปี พ.ศ. 2519 – 2553 เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลที่ได้ดำเนินการตรวจสอบและจัดการแก้ไขร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง 124 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่เป็นการรั่วไหลในปริมาณเล็กน้อย สาเหตุของการรั่วไหลที่พบมากที่สุดคือ

           1. อุปกรณ์ที่ใช้ในการเดินเรือ เก็บกัก หรือสูบถ่ายน้ำมันชำรุด

           2. รั่วไหลระหว่างการสูบถ่ายน้ำมันกลางทะเลจากเรือขนาดใหญ่ลงสู่เรือขนาดเล็ก หรือระหว่างเรือกับท่าเทียบเรือ

           3. การลักลอบทิ้ง เช่น ปล่อยทิ้งน้ำมันชนิดเดิมก่อนบรรทุกน้ำมันชนิดใหม่ หรือลักลอบถ่ายน้ำอับเฉา

           4. เรืออับปาง เนื่องจากเรือโดนกัน ชนหินโสโครก/หินฉลาม หรือไฟไหม้

           5. สาเหตุอื่นๆ เช่น รั่วไหลจากแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมในทะเล น้ำทิ้งจากฝั่ง หรือรั่วไหลตามธรรมชาติ

 

         แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ จำแนกปริมาณน้ำมันรั่วไหลเป็น 3 ระดับ (Tier) ได้แก่

    1. ระดับที่ 1 (Tier I)   ปริมาณรั่วไหลไม่เกิน 20 ตันลิตร ส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างขนถ่ายน้ำมัน ผู้ที่ทำให้เกิดน้ำมันรั่วไหลต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการขจัดคราบน้ำมัน และ/หรือได้รับความช่วยเหลือจาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยต้องแจ้งให้กรมเจ้าท่าทราบก่อน

    2. ระดับที่ 2 (Tier II)   รั่วไหลมากกว่า 20 - 1,000 ตันลิตร อาจเกิดจากเรือโดนกัน การขจัดคราบน้ำมันต้องร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ ตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ และต้องแจ้งให้กรมเจ้าท่าทราบก่อน หากเกินขีดความสามารถของทรัพยากรที่มี อาจต้องขอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศ

    3. ระดับที่ 3 (Tier III)  ปริมาณรั่วไหลมากกว่า 1,000 ตันลิตร อาจเกิดจากอุบัติเหตุที่รุนแรง การขจัดคราบน้ำมันในระดับนี้ต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆในประเทศ และต้องอาศัยความช่วยเหลือระดับนานาชาติ

 

          จากสถิติกรมเจ้าท่า ระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2553 พบการรั่วไหลของน้ำมันในปริมาณมาก (20,000 ลิตรขึ้นไป) ทั้งสิ้น 9 ครั้ง พบเกิดในทะเลและชายฝั่งท่าเทียบเรือ ส่วนมากพบการรั่วไหลบริเวณท่าเทียบเรือจากอุบัติเหตุระหว่างการขนถ่ายน้ำมัน และจากอุบัติเหตุต่างๆ ดังแสดงในตารางที่ 1 สถิติเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลปริมาณมาก ระหว่างปี พ.ศ. 2540 - 2553

  

รายงานน้ำมันรั่วไหล ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 ช่วง โดยช่วงที่ 1 ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จน พ.ศ. 2555 (กรมเจ้าท่า, 2559) และช่วงที่ 2 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 2557 จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 (สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน, 2559) แสดงดังตารางที่ 2 โดยพบว่าในฝั่งอ่าวไทยมีจำนวนครั้งของการเกิดน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลและชายฝั่งมากกว่าอันดามัน และมีรายงานมากที่สุดในเขต 1 อ่าวไทยฝั่งตะวันออก

ทั้งนี้มีรายงานการเกิดน้ำมันรั่วไหลที่มีปริมาณมาก (ตั้งแต่ 20 ตันขึ้นไป) ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ถึง พ.ศ. 2556 จำนวน 8 ครั้ง แสดงรายละเอียดดังตารางที่ 3 

ตารางที่ 2 ความถี่ในการเกิดน้ำมันรั่วไหลที่พบตามแนวชายฝั่งและทะเลในประเทศไทย

บริเวณชายฝั่งที่พบ

น้ำทะเลเปลี่ยนสี

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547

ถึงปี พ.ศ. 2556*

พ.ย. 2557

ถึง ก.ย. 2559**

ครั้ง

ร้อยละ

ครั้ง

ร้อยละ

เขต 1 อ่าวไทยฝั่งตะวันออก

27

43

7

55

เขต 2 อ่าวไทยตอนบน

10

16

2

15

เขต 3 อ่าวไทยตอนกลาง

2

3

2

15

เขต 4 อ่าวไทยตอนล่าง

4

6

2

15

บริเวณแท่นผลิต / แท่นขุดสำรวจปิโตรเลียม

ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ

15

24

 

 

รวม อ่าวไทย

43

92

13

100

เขต 5 อันดามันตอนบน

3

5

 

 

เขต 6 อันดามันตอนล่าง

2

3

 

 

รวม อันดามัน

5

8

   

(ที่มา : *กรมเจ้าท่า, 2556; **สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน, 2559)

 

ตารางที่ 3 เหตุการณ์การเกิดน้ำมันรั่วไหล (ปริมาณตั้งแต่ 20 ตันขึ้นไป) ที่พบตามแนวชายฝั่งและทะเลในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2547 - 2556

วัน เดือน ปี

ชนิดน้ำมัน

สถานที่เกิด

สาเหตุ

ปริมาณ

4 พฤษภาคม พ.ศ. 2549

น้ำมันเตา

บริเวณหน้าท่าเทียบเรือ บริษัท อัลลายแอนซ์
รีไฟน์นิ่ง จำกัด อ.มาบตาพุด จ.ระยอง

รั่วไหลจากรอยรั่วที่ระวางหมายเลข 2 ของเรือบรรทุกน้ำมัน CP 34

20 ตัน

6 ตุลาคม พ.ศ. 2550

Saraline 185V

บริเวณแท่น Trident-16 (Offshore Mobile Drilling Unit) ของบริษัท Chevron Thailand

รั่วไหลจาก Storage Tank

ประมาณ 30 ตัน

(220 บาร์เรล)

9 ธันวาคม พ.ศ. 2550

น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา

ในทะเลห่างชายฝั่งประมาณ 6 ไมล์ทะเลจาก อ.สทิงพระ จ.สงขลา

เรือบรรทุกแก๊สของบริษัท เวิร์ลไวด์ทรานสปอร์ต จำกัด อับปาง

ประมาณ 20 ตัน

15 มิถุนายน 2551

น้ำมันเตา

บริเวณอู่เรือบริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิส จำกัด(มหาชน)

อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ

รั่วไหลจากเรือสินค้า Chol Han Vong Chong Nyon Ho

เกาหลีเหนือ

มากกว่า 40 ตัน

4 กันยายน 2554

ดีเซล (B5)

ห่างจากเกาะราชาใหญ่ ทางด้านตะวันออก ประมาณ 4 ไมล์ทะเล จ.ภูเก็ต

เรือบรรทุกน้ำมันชื่อ ส.โชคถาวร 6 จม เนื่องจากสภาพภูมิกาศเลวร้ายและมีคลื่นลมแรง

ประมาณ 40 ตัน

2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คราบน้ำมันสีดำและสีรุ้ง

บริเวณท่าเทียบเรือเคอร์รี่ สยามรีพอร์ต

อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

รั่วไหลจากเรือบรรทุกเหล็กสัญชาติปานามาชื่อ Unison Vigor ที่จม

79 ตัน

22 มีนาคม พ.ศ. 2556

น้ำมันเตา

บริเวณคลองท่าจีน อ.เมือง จ.ภูเก็ต

เรือประมงดัดแปลงชื่อ เปรมิกา จมลงในคลองท่าจีนส่งผลให้น้ำมันเตาที่บรรทุกมาในเรือเกิดการรั่วไหล

20 ตัน

27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

น้ำมันดิบ

บริเวณทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล (Single Point Moonring : SPM) รวมทั้งด้านเหนือและทิศตะวันตกของเกาะเสม็ด จ.ระยอง

รั่วไหลจากท่อรับน้ำมันดิบ ขนาด 16 นิ้ว รั่วบริเวณทุ่น SPM ของบริษัท PTTGCV

50 ตัน

(ที่มา : กรมเจ้าท่า, 2559)

 

การติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนของน้ำมัน (สารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนรวม) ในน้ำทะเล

โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เริ่มมีการติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนของน้ำมันในทะเลตั้งแต่ ปี 2547-2556 รวมทั้งสิ้น 13 ครั้ง และจากการติดตามตรวจสอบในปี 2558 ในพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันออกพบคราบน้ำมันจำนวน 8 ครั้ง (จังหวัดระยอง จำนวน 6 ครั้ง และจังหวัดชลบุรี จำนวน 2 ครั้ง) มีเพียง 2 ครั้ง ที่ทราบสาเหตุ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 75 ที่ยังไม่ทราบสาเหตุ และ 1 ครั้งที่มีการบันทึกสถิติของกรมเจ้าท่า คิดเป็นเพียงร้อยละ 12.5 เท่านั้น (ตารางที่ 4) 

ตารางที่ 4 ผลการตรวจสอบและประเมินสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง กรณีน้ำมันรั่วไหลบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ในปี 2558

ที่มา : ระบบฐานข้อมูลกลางและมาตรฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://km.dmcr.go.th/th/c_59/s_75/d_18218.

 

เขตความเสี่ยงต่อน้ำมันรั่วไหลในน่านน้ำไทย

      ส่วนแหล่งน้ำทะเล สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ ได้จำแนกเขตความเสี่ยงต่อน้ำมันรั่วไหลในน่านน้ำทะเลไทย ตามระดับความเสี่ยงและความรุนแรงต่อการได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหล ออกเป็น 4 เขต ดังนี้

 

ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ

 

เขตที่ 1 มีความเสี่ยงสูงมาก

   ได้แก่ บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม มีกิจกรรมการขนถ่ายน้ำมันบริเวณท่าเทียบเรือและกลางทะเล มีการจราจรทางน้ำหนาแน่น

เขตที่ 2 มีความเสียงสูง

   ได้แก่ บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงท่าเรือคลองเตย เป็นเส้นทางหลักของเรือบรรทุกน้ำมัน เรือสินค้า และเรือโดยสาร อีกทั้งเป็นที่ตั้งคลังน้ำมันหลายแห่งริมฝั่งแม่น้ำ

เขตที่ 3 มีความเสี่ยงสูงปานกลาง

    ฝั่งทะเลอ่าวไทย ได้แก่ อ่าวไทยด้านตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พัทลุง และสงขลา และฝั่งทะเลอันดามัน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล น้ำมันรั่วไหลอาจเกิดจากเรือบรรทุกน้ำมันที่เดินทางเข้าออกช่องแคบมะละกา การขนถ่ายน้ำมัน ท่าเรือน้ำลึก และท่าเรือโดยสาร ฯลฯ

เขตที่ 4 มีความเสี่ยงต่ำ

ได้แก่ พื้นที่บริเวณฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันนอกเหนือจากที่ระบุไว้ใน 3 เขตข้างต้น

 

      ตารางที่ 3 ระดับความเสี่ยงของพื้นที่ 21 จังหวัดชายฝั่งทะเล ต่อผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหล (สังเคราะห์จากแผนที่เขตความเสี่ยงต่อน้ำมันรั่วไหล)

ระดับความเสี่ยง

พื้นที่

ตัวแปรที่ใช้พิจารณา a

1

2

3

4

สูงมาก

ชลบุรี

สูง

ทุกปี

สูง

สูง

ระยอง

สูง

1 ครั้ง / 2-5 ปี

ปานกลาง

สูง

ฉะเชิงเทรา

สูง

1 ครั้ง / ≥ 5 ปี

ปานกลาง

สูง

สูง

กรุงเทพ b

สูง

ทุกปี

ต่ำ

สูง

สมุทรปราการ

สูง

1 ครั้ง / 2-5 ปี

ต่ำ

สูง

ปานกลาง

สงขลา

ปานกลาง

ทุกปี

ปานกลาง

ต่ำ

นครศรีธรรมราช

ไม่มีข้อมูล

ทุกปี

ปานกลาง

ต่ำ

สุราษฎร์ธานี

ไม่มีข้อมูล

ทุกปี

ปานกลาง

ต่ำ

ชุมพร

ไม่มีข้อมูล

1 ครั้ง / ≥ 5 ปี

ปานกลาง

ต่ำ

ประจวบคีรีขันธ์

ปานกลาง

1 ครั้ง / 2-5 ปี

ปานกลาง

ต่ำ

ระนอง

ไม่มีข้อมูล

1 ครั้ง / ≥ 5 ปี

สูง

ต่ำ

พังงา

ไม่มีข้อมูล

1 ครั้ง / ≥ 5 ปี

สูง

ต่ำ

ภูเก็ต

ปานกลาง

1 ครั้ง / 2-5 ปี

สูง

ต่ำ

กระบี่

ไม่มีข้อมูล

1 ครั้ง / 2- 5 ปี

สูง

ต่ำ

ตรัง

ไม่มีข้อมูล

1 ครั้ง / ≥ 5 ปี

สูง

ต่ำ

สตูล

ไม่มีข้อมูล

1 ครั้ง / 2-5 ปี

สูง

ต่ำ

ต่ำ


ตราด

ไม่มีข้อมูล

1 ครั้ง / ≥ 5 ปี

ปานกลาง

ต่ำ

จันทบุรี

ไม่มีข้อมูล

1 ครั้ง / ≥ 5 ปี

ปานกลาง

ต่ำ

เพชรบุรี

ไม่มีข้อมูล

1 ครั้ง / ≥ 5 ปี

ต่ำ

ต่ำ

ปัตตานี

ไม่มีข้อมูล

1 ครั้ง / ≥ 5 ปี

ต่ำ

ต่ำ

นราธิวาส

ไม่มีข้อมูล

1 ครั้ง / ≥ 5 ปี

ต่ำ

ต่ำ

a 1. แนวโน้มการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันเข้าในพื้นที่ชายฝั่ง กรณีมีน้ำมันรั่วไหลลงทะเล ได้จากการคาดการณ์ด้วยแบบจำลอง

   2. ความถี่ของพื้นที่เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหล ระหว่างปี พ.ศ. 2516 – ปัจจุบัน

   3. สภาพการดำรงอยู่และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่งที่สำคัญ (ป่าชายเลน แนวปะการัง หญ้าทะเล นกทะเล เต่าทะเล พะยูน โลมา ปลาต่างๆ เป็นต้น) และลักษณะทางกายภาพจากแผนที่ดัชนีความอ่อนไหวของทรัพยากรต่อมลพิษจากน้ำมัน

   4. เส้นทางจราจรทางน้ำ เส้นทางการขนถ่ายน้ำมันและกิจกรรมทางน้ำอื่นๆ

b บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา

ที่มา  กรมควบคุมมลพิษ. 2554

 

       โดยรวมแล้วพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำมันรั่วไหลสัมพันธ์กับกิจกรรมทางทะเลในบริเวณนั้นๆ ได้แก่ ท่าเทียบเรือ จำนวนเรือ ชนิดและประเภทของเรือ แหล่งหรือเขตอุตสาหกรรม เส้นทางการสัญจรทางน้ำ และกิจกรรมการขนส่งหรือขนถ่ายสินค้าในทะเล

        3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา รวมถึงบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมและท่าเทียบเรือจำนวนมาก มีปริมาณการสัญจรทางน้ำ โดยเฉพาะเรือบรรทุกน้ำมันมาก ปัจจัยดังกล่าวทำให้มีความเสี่ยงการเกิดน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล สูงกว่าในบริเวณจังหวัดชายทะเลอื่น ดังตารางที่ 2

        บริเวณแหล่งท่องเที่ยวและชุมชม มีความเสี่ยงต่อน้ำมันรั่วไหลลงทะเลลดหลั่นลงไป จากกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเล ดำน้ำ เรือสำราญ หรือกิจกรรมการประมงชายฝั่งที่ต้องออกเรือไปทำการประมง และน้ำทิ้งจากบ้านเรือนริมชายฝั่งทะเลที่มีน้ำมันปนเปื้อนอยู่ ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นแหล่งรั่วไหลของน้ำมันลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติทั้งสิ้น

 

แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วไหล

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

          ประเทศไทยได้ดำเนินการขจัดคราบน้ำมันในแหล่งน้ำโดยปฏิบัติตาม “แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ” โดยมีหน่วยงานหลักในการดำเนินการขจัดและแก้ไขปัญหาจากคราบน้ำมันรั่วไหล คือ

    คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.)

          จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2538 โดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ.2538 โดยมีโครงสร้างการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการ ศูนย์ประสานงาน หน่วยปฏิบัติการ และหน่วยสนับสนุน ตามแผนภาพ

           กปน. มีหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแล และรับผิดชอบในการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ รวมทั้งการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และแถลงข่าวด้านการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน และรายงานผลการดำเนินงานในคณะรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งจะปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ สามารถอธิบายแยกรายละเอียดตามศูนย์การปฏิบัติงานได้ดังนี้

       ศูนย์ประสานงาน ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า มีหน้าที่แจ้งหน่วยงานผู้รับผิดชอบจัดตั้งศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการและแจ้งยุติการปฏิบัติการ และประสานกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ก่อให้เกิดมลพิษให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการขจัดคราบน้ำมัน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับการดำเนินการขจัดคราบน้ำมัน

       ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการ ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่าหรือกองทัพเรือ มีหน้าที่กำหนดแผนและยุทธวิธีในการขจัดคราบน้ำมัน ประสานศูนย์ประสานงานในการขอรับการสนับสนุนด้านทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในการขจัดคราบน้ำมัน ตลอดจนพิจารณาผลการปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันว่าสำเร็จลุล่วงหรือไม่ กรณีแล้วเสร็จจะแจ้งให้ศูนย์ประสานงานทราบ เพื่อขออนุมัติ กปน. ยุติการปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมัน

        หน่วยปฏิบัติการ ประกอบด้วย กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ หน่วยงานของจังหวัดในพื้นที่เกิดเหตุ กรุงเทพมหานคร และสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน มีหน้าที่ดำเนินการป้องกันและขจัดคราบน้ำมันโดยปฏิบัติภารกิจจามที่ได้รับมอบหมายจากศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการ และรายงานความก้าวหน้า ตลอดจนอุปสรรคที่เกิดขึ้นต่อศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการ

        หน่วยสนับสนุน ประกอบด้วย กองทัพอากาศ กองทัพบก กรมการขนส่งทางอากาศ กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สำนักเลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) สำนักงานนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กรมศุลกากร สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมบัญชีกลาง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง การท่าเรือแห่งประเทศไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมโรงงานอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยมีหน้าที่ให้การสนับสนุนทางวิชาการ อุปกรณ์ ยานพาหนะ กำลังคน และอื่นๆ ตามแต่จะได้รับการร้องขอ

 

มาตรการป้องกันและจัดการกับปัญหาน้ำมันรั่วไหล

         การป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วไหล ต้องอาศัยการร่วมมือจากหลายหน่วยงานเพื่อสามารถดำเนินการบรรเทาผลกระทบและความเสียหาย ที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบได้เตรียมมาตรการจัดการต่างๆ ดังนี้

   1. ควบคุมและแก้ปัญหาการลักลอบปล่อยทิ้งของเสียจากเรือ โดยเตรียมอุปกรณ์รองรับของเสียในท่าเรือ กรมเจ้าท่าได้ออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมการจัดการของเสียจากเรือ โดยกำหนดให้เขตท่าเรือ 5 เขต ได้แก่ เขตท่าเรือกรุงเทพฯ เขตท่าเรือศรีราชา เขตท่าเรือมาบตาพุด เขตท่าเรือสงขลา และเขตท่าเรือภูเก็ต เป็นเขตที่ต้องจัดการบริการจัดเก็บและบำบัดของเสียจากเรือ

   2. ป้องกันน้ำมันหรือสารเคมีรั่วไหลขณะมีการขนถ่ายระหว่างเรือกับเรือ ตามประกาศของกรมเจ้าท่า เรื่องมาตรการความปลอดภัยในการขนถ่ายน้ำมันและผลิตภัณฑ์ ที่กำหนดให้นายเรือทั้งสองลำร่วมกันตรวจสอบความปลอดภัยของเรือก่อนการขนถ่ายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการรั่วไหลขณะขนถ่ายในทะเล

   3. จัดทำระบบเตือนภัยเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วไหล ในพื้นที่ความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหล

   4. กำหนดและจัดทำแผนที่เขตความเสี่ยงต่อน้ำมันรั่วไหล ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้แผนที่นี้ กำหนดกฎ ระเบียบเกี่ยวกับการเดินเรือในน่านน้ำทะเลในประเทศและน่าน้ำทะเลสากลระดับภูมิภาค เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดจากน้ำมันรั่วไหลต่อสิ่งแวดล้อม

   5.จัดทำฐานข้อมูลระดับพื้นที่เกี่ยวกับเส้นทางการขนส่งน้ำมัน ชนิด ปริมาณ คุณสมบัติที่สำคัญของน้ำมันแต่ละชนิดที่มีการขนส่ง และผลิตได้ในทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน และผู้เกี่ยวข้องกรณีเกิดเหตุรั่วไหล เปิดเผยและเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่าย

   6. จัดทำแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการน้ำมันรั่วไหล ประกอบด้วยการตรวจสอบ กำกับ และควบคุม ของหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจัดทำระบบการขนส่งทางทะเล โดยกำหนดรูปแบบ เส้นทาง และช่วงเวลาในการขนส่งน้ำมันทางทะเล ตลอดจนจัดทำระบบติดตามและรายงานการเดินเรือเพื่อให้สามารถสืบหาผู้ลักลอบปล่อยทิ้งน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

   7. สร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  และจัดตั้งกองทุนป้องกันและฟื้นฟูทรัพยากรที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากน้ำมันรั่วไหล

   8. สร้างเครือข่ายชุมชนในพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังและตรวจสอบเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในทะเล และอบรมให้ความรู้เบื้องต้นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำมันในทะเล เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกรมเจ้าท่า

 

วิธีการขจัดคราบน้ำมัน

         การขจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหลสามารถกระทำได้หลายวิธี โดยพิจารณาจากข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น ชนิดของน้ำมัน ปริมาณการรั่วไหล ทิศทางและความเร็วของกระแสน้ำ กระแสลม สภาพอากาศ ลักษณะทางภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งวิธีการขจัดคราบน้ำมันสามารถแบ่งได้วิธีการ 5 วิธีดังนี้

1. การปล่อยให้สลายตัวตามธรรมชาติ

      เหมาะสมในกรณีที่มีการรั่วไหลจำนวนเล็กน้อย และชนิดของน้ำมันที่รั่วไหลสามารถสลายตัวเองได้ดีในธรรมชาติ เช่น น้ำมันดีเซล แต่ยังต้องมีการติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบของคราบน้ำมัน ว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณใกล้เคียงในลักษณะใดบ้าง เพื่อหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป

2. การกักและเก็บ

      ทำได้โดยใช้ทุ่นน้ำมัน (Boom) จำกัดขอบเขตการแพร่กระจายของน้ำมันให้มีความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้น จึงใช้เครื่องเก็บน้ำมัน (Skimmer) เก็บคราบน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือใช้วัสดุดูดซับคราบน้ำมันอื่นๆ เช่น ลำไม่ไผ่ มัดฟางข้าว เป็นต้น

 
ทุ่นน้ำมัน (boom)   เครื่องเก็บคราบน้ำมัน (skimmer)
http://www.nortrade.com   http://channel.nationalgeographic.com

 

3. ใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน

      เป็นวิธีการที่ใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันบนผิวน้ำได้ในระยะเวลาอันสั้น เช่น การใช้สารเคมีที่ทำให้น้ำมันแตกตัวเป็นโมเลกุลเล็กๆ (oilspill dispersant) หรือสารลดแรงตึงผิวชีวภาพ (biosurfactant) ที่ผลิตจากจุลินทรีย์บางชนิด สารเคมีที่นำมาใช้ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำ และต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ควรใช้วิธีนี้เมื่อขจัดคราบน้ำมันไม่ได้ผลหรือไม่ทันการ

4. การเผา

      สามารถใช้วิธีนี้ได้ก่อนที่คราบน้ำมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและเคมี และคราบน้ำมันต้องมีความหนาตั้งแต่ 3 มิลลิเมตรขึ้นไป โดยเริ่มจากล้อมคราบน้ำมันด้วยทุนกักเก็บชนิดพิเศษที่ทนไฟได้ดี เช่น Ceramic type boom และเริ่มทำการเผา การขจัดคราบน้ำมันด้วยวิธีนี้ต้องทำด้วยครามเชี่ยวชาญเป็นพิเศษและมีการวางแผนเป็นอย่างดี

http://www.alyoungsteronpoint.com

 

5. การทำความสะอาดชายฝั่ง

      เป็นวิธีขจัดคราบน้ำมันในกรณีที่คราบน้ำมันถูกพัดเข้าหาฝั่ง โดยใช้คนและอุปกรณ์เข้าเก็บรวบรวมคราบน้ำมัน และใช้อุปกรณ์ช่วยเก็บคราบน้ำมันในกรณีที่คราบน้ำมันจับตัวเป็นก้อนหรือปนเปื้อนกับขยะ เช่น พลั่ว เสียม และถุงพลาสติก รวมทั้งใช้เครื่องมือตักน้ำมันในกรณีที่คราบน้ำมันยังไม่จับกันเป็นก้อน

 

 

ที่มา      กรมเจ้าท่า. สถิติน้ำมันรั่วไหล (Oil spill). สืบค้นจาก http://www.md.go.th/safety_environment/04_4.php

กระทรวงคมนาคม. 2545. แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน แห่งชาติ. สืบค้นจาก http://got-pemsea.com/frontend/tactics_view.php?Submit=Clear&Tactics_ID=4#File_1

กรมควบคุมมลพิษ. 2553. เขตความเสี่ยงต่อน้ำมันรั่วไหลในน่านน้ำทะเลไทย. สืบค้นจาก http://wqm.pcd.go.th/water/images/stories/marine/journal/ns_article1_dec10_wqmb.pdf

กรมควบคุมมลพิษ. 2554. แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วไหลในทะเล (ฉบับร่าง). สืบค้นจาก http://wqm.pcd.go.th/water/images/stories/marine/report/oilspill54.pdf

 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง https://km.dmcr.go.th/th/c_59/s_75/d_18218



bottom

top

Latest News

Popular


bottom